ข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่ผ่านมา
สรุปภาพรวมการลงทุนสัปดาห์นี้
สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นโลกค่อนข้างทรงตัว ด้านสถานการณ์สงครามการค้ายังคงมีพัฒนาการเชิงบวกต่อเนื่อง โดยสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่บรรลุข้อตกลงเจรจาต่อรองภาษีนำเข้าของสหรัฐ โดย ปธน. ทรัมป์เผยข้อตกลงมีมูลค่าถึงหลายพันล้านดอลลาร์ และจะช่วยเพิ่มปริมาณส่งออกของสหรัฐฯ ทั้งนี้รายละเอียดคาดจะได้ข้อสรุปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ด้านประเทศจีนกำลังเดินหน้าเข้าสู่โต๊ะเจรจาเป็นครั้งแรกในช่วงสุดสัปดาห์นี้ที่สวิสเซอร์แลนด์ ผลการเจรจาเบื้องต้นอาจเป็นปัจจัยที่บ่งชี้ถึงทิศทางตลาดในระยะถัดไป ทั้งนี้คาดต้องเวลาพอสมควรก่อนที่จะได้มาซึ่งข้อสรุปทั้งหมด ด้าน Fed คงอัตราดอกเบี้ยที่ 4.25-4.50% พร้อมระบุว่า ความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อและการว่างงานที่สูงขึ้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย Fed ยังคงแนวทาง “wait-and-see” ด้านตลาดหุ้น EM ปรับตัวขึ้นได้ดีกว่า DM โดยหุ้นเอเชียปรับตัวในทิศทางเดียวกับกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาพร้อมค่าเงินสกุลเอเชียที่แข็งค่าขึ้น นอกจากนั้น PBoC ประกาศชุดมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงรุกทั้งลดดอกเบี้ยนโยบาย การลดอัตรา RRR เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจจริงและตลาดทุน ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับภูมิภาคจากสัญญาณสงครามการค้าที่มีพัฒนาการเชิงบวกต่อเนื่อง การเปิดกองทุน Thai ESGX ในเดือน พ.ค. เป็นอีกปัจจัยสนับสนุนแรงซื้อฝั่งสถาบันในประเทศ รวมถึงการแข็งค่าของค่าเงินบาทนำไปสู่กระแสเงินต่างชาติไหลเข้า Set Index ที่เป็นบวกในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันฟื้นตัวขึ้นบนความคาดหวังเชิงบวกการเจรจาสหรัฐและจีน หลังลดลงแรงในสัปดาห์ก่อนได้รับรู้แรงกดดันด้านอุปทานเพิ่มเติมจาก OPEC+ จะเพิ่มการผลิตอีก 0.411 MBD ในเดือน มิ.ย. ไประดับหนึ่ง
ตลาดหุ้นโลก
สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นโลกค่อนข้างทรงตัว ด้านความคาดหวังต่อการเจรจาการค้าที่มีความคืบหน้ามากขึ้น ทิศทางนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นและความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในจีน นอกจากนี้ ดัชนี ISM ภาคบริการของสหรัฐฯขยายตัวต่อเนื่องเหนือระดับ 50 สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วเกินไป ด้าน Fed ส่งสัญญาณ “ไม่รีบร้อนในการลดดอกเบี้ย”
ตลาดหุ้นไทย
หุ้นไทยปรับตัวดีขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากกระแสข่าวการเตรียมเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐ และจีนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้าตามภูมิภาค โดยมีเม็ดเงินไหลเข้าถึง 5.4 พันล้านบาทในสัปดาห์นี้ ขณะที่ (1) เงินเฟ้อไทย เม.ย. หดตัว 0.22%YoY กดดันจากราคาพลังงานเป็นหลัก และราคาอาหารบางส่วน (2) กกร. ประกาศลดเป้า GDP ปีนี้เหลือ 2.0-2.2% จาก 2.4-2.9% จากสงครามการค้า
ตลาดพันธบัตร
ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นที่ 4.36% ขณะที่ ระยะสั้น 2 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 3.87% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ย 2-10 ปี อยู่ที่ 49 bps
ผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ลดลงที่ 1.82% ขณะที่ระยะสั้น อายุ 2 ปี อ่อนลงที่ 1.52% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 29,179 ล้านบาท
ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์
ราคาน้ำมัน Brent ปรับขึ้น 1.1%WoW สู่ 62.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังสหรัฐฯ และ UK ได้บรรลุข้อตกลงการค้าเบื้องต้น และคาดหวังการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะมีความคืบหน้า ราคาทองคำ (Spot) ปรับขึ้น 2.1%WoW สู่ 3,304.98 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์
ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY) แข็งค่าขึ้นที่ 100.6 จุด ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงที่ 145.52 เยน ด้านค่าเงินยูโรทรงตัวที่ 1.12 ดอลลาร์ต่อยูโร ด้านค่าเงินเอเชีย ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นที่ 33.09 บาท ขณะที่เงินหยวนแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 7.23 หยวน