PDF Available  
Wealth Weekend

INVX Wealth Weekend – มองเวลท์..รายวีค 2 พ.ค. 2568

2 May 25 12:58 PM
สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 1 จากการเร่งการนำเข้าก่อนสงครามการค้ารุนแรง
  • PMI ภาคการผลิตจีนหดตัวครั้งแรกในรอบหลายปีเนื่องจากสงครามการค้า
  • ธปท. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลง พร้อมลดดอกเบี้ยสู่ 1.75% จากสงครามการค้า

สรุปภาพรวมการลงทุนสัปดาห์นี้

 

สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นโลกยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ความผันผวนเริ่มลดลง ในทิศทางเดียวกับ VIX สถานการณ์สงครามการค้าทิศทางยังอยู่ในช่วงของการผ่อนคลายลงต่อเนื่อง ทำให้ตลาดกลับมาให้น้ำหนักกับผลประกอบการที่ทยอยประกาศออกมาเพิ่มมากขึ้น โดยหุ้นกลุ่มเทคฯ ขนาดใหญ่รายงานผลประกอบการออกมาดีกว่าคาด ด้านการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้มีความคืบหน้าชัดเจนขึ้น นอกจากนั้นรัฐบาลสหรัฐผ่อนปรนภาษีนำเข้าบางรายการ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ช่วยคลายความกังวลด้านซัพพลายเชน อย่างไรก็ตาม GDP สหรัฐฯ 1Q25 หดตัว -0.3% จากการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนมาตรการขึ้นภาษีของรัฐบาลทรัมป์ โดยการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากส่งผลลบต่อ GDP ถึง -5.03% ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนลดลงสู่ระดับ 52.2 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 ปัจจัยดังกล่าวทำให้ตลาดยังคงมุมมอง FED จะลดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ ตลาดหุ้น EM ปรับขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในวันศุกร์ หลังจีนเริ่มส่งสัญญาณอาจเข้าสู่การเจรจา แม้ PMI ภาคการผลิตของทางการจีนจะลดลงสู่ระดับ 49.0 ในเดือนเม.ย. ต่ำสุดนับตั้งแต่ ธ.ค. 2023 สะท้อนถึงการหดตัวของภาคการผลิตจากผลของมาตรการภาษีศุลการกรของสหรัฐฯ ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นดีในทิศทางเดียวกับภูมิภาค และความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของ กนง. ซึ่งมีมติลดดอกเบี้ยตามคาด ราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง กดดันจากข้อเรียกร้องของสมาชิก OPEC+ จะเร่งเพิ่มการผลิตขึ้นอีกในเดือน มิ.ย. และซาอุฯ ที่ปฏิเสธที่จะลดอุปทานน้ำมันแม้ราคาน้ำมันจะดิ่งลง อีกทั้งยังมีความกังวลด้านอุปสงค์กดดันจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

 

ตลาดหุ้นโลก 

สัปดาห์นี้ตลาดปรับตัวดีขึ้นจากการเจรจาการค้าของสหรัฐฯกับหลายประเทศที่มีความคืบหน้ามากขึ้นรวมถึงการผ่อนปรนมาตรการภาษีนำเข้าบางส่วนโดยลดภาระภาษีสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ที่บริษัทในสหรัฐฯนำเข้า อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของสงครามการค้าเริ่มเห็นชัดขึ้นผ่าน (1) PMI ภาคการผลิตจีนหดตัวครั้งแรกในรอบหลายปี (2) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐต่ำในรอบ 32 เดือน (3) 1QGDP สหรัฐหดตัว

 

ตลาดหุ้นไทย

หุ้นไทยปรับตัวดีขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. และแรงหนุนจากกองทุน ThaiESGX ที่จะมาในวันที่ 2 พ.ค.2568 ขณะที่ (1) Moody’s ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจาก "Stable" เป็น "Negative“ จากความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางผลของมาตรการภาษีศุลกากร  (2) World Bank ลดประมาณการ GDP ไทย จาก 2.9% ลงสู่ 1.6% ต่ำสุดในกลุ่มอาเซียน

 

ตลาดพันธบัตร

ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ปรับลดลงที่ 4.26% ขณะที่ ระยะสั้น 2 ปีปรับตัวลดลงที่ 3.72% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ย 2-10 ปี อยู่ที่ 54 bps

ผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นที่ 1.89% ขณะที่ระยะสั้น อายุ 2 ปี อ่อนลงที่ 1.54% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 2,186 ล้านบาท

 

ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์

ราคาน้ำมัน Brent ปรับลง 6.6%WoW สู่ 62.13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความกังวลต่ออุปทานที่ OPEC+ อาจเร่งการผลิตใน มิ.ย. และอุปสงค์ถูกกดดันจากการค้าที่ไม่แน่นอน ด้านราคาทองคำ (Spot) ปรับลง 3.3%WoW สู่ 3,238.38 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์

 

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY) แข็งค่าขึ้นที่ 100.0 จุด  ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงที่ 145.25 เยน ด้านค่าเงินยูโรทรงตัวที่ 1.13 ดอลลาร์ต่อยูโร ด้านค่าเงินเอเชีย ค่าเงินบาททรงตัวที่ 33.25 บาท ขณะที่เงินหยวนแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 7.27 หยวน

 

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5