สรุปคำแนะนำการลงทุนประจำวันที่ 19 - 23 พฤษภาคม 2568
# แนะนำขายทำกำไร หุ้นกลุ่มการเงินสหรัฐฯ กองทุน TUSFIN-A และ หุ้นเทคจีน กองทุน PRINCIPAL CHTECH-A
มุมมองรายสินทรัพย์ประจำสัปดาห์
ตราสารทุน
แม้บรรยากาศการลงทุนยังอยู่ในโหมด Risk-on หลังตลาดคลายกังวลเรื่องภาษีตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ-จีน แต่ตลาดหุ้นโลกได้รับรู้ประเด็นบวกไปพอสมควรแล้ว เราจึงแนะนำทยอยล็อคกำไรสำหรับการลงทุนระยะสั้น ขณะที่การลงทุนระยะกลางเรายังชื่นชอบหุ้น ROW เนื่องจากมี valuation ยังไม่แพง เช่น หุ้นจีน A-Shares หุ้นอินเดีย หุ้นเวียดนาม และหุ้นไทย รวมถึงหุ้น Quality ในสหรัฐฯ
ตราสารหนี้
ระยะสั้นตลาดการลงทุนอยู่ในโหมด Risk-on ทำให้ความน่าสนใจของตราสารหนี้ลดลง แต่การลงทุนในตราสารหนี้ยังคงสามารถช่วยลดความผันผวนให้กับพอร์ตได้ โดยเราชื่นชอบตราสารหนี้โลกมากกว่าตราสารหนี้ไทย จาก Bond Yield ที่อยู่ในระดับสูงกว่า แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย แต่เราประเมินว่า Yield ของไทยอาจลงได้อีกไม่มากนัก
สินทรัพย์ทางเลือก
ราคาทองคำย่อตัวลงตามที่ประเมิน หลังเผชิญแรงขายในระยะสั้นจากบรรยากาศการลงทุนที่อยู่ในโหมด Risk on จากการเจรจาการค้าที่คืบหน้า อย่างไรก็ดี เรามองว่าราคาทองคำที่ปรับตัวลงเป็นโอกาสที่ดีในการทยอยสะสมระยะยาว จากความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังสูง
[Theme Play]
India Equity: ตลาดหุ้นอินเดียส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยที่ Valuation ยังอยู่ในระดับน่าสนใจ และคาดการณ์กำไรปีนี้เติบโตโดดเด่น ขณะที่ภาคเศรษฐกิจเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และมีแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ รวมถึงธนาคารกลางอินเดียที่มีท่าทีส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เศรษฐกิจอินเดียได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจำกัด ล่าสุดอินเดียใกล้บรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ นับเป็นสัญญาณบวกต่อหุ้นอินเดียเช่นกัน แม้จะมีความตึงเครียดระหว่างอินเดีย-ปากีสถานเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่เราคาดว่าความขัดแย้งจะยังอยู่ในวงจำกัด และไม่น่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อบรรยากาศการลงทุนในวงกว้าง
China A-Shares: จีนได้ปรับเศรษฐกิจมานานเพื่อเตรียมรองรับสงครามการค้า อีกทั้งรัฐได้หันกลับมาสนับสนุนภาคเอกชน โดย A-Shares ราคายัง Laggard เมื่อเทียบกับ H-Shares จึงมีโอกาสปรับตัวขึ้นโดยเฉพาะหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเริ่มเห็นผลชัดเจนมากขึ้น ล่าสุดจีนแถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานการเงินหลัก หนุน Sentiment หุ้นจีน ปัจจุบันดัชนี CSI 300 มี Valuation ไม่แพง และกำไรมีแนวโน้มฟื้นตัว นอกจากนี้ A-Shares มีความสัมพันธ์ต่อหุ้นโลกและหุ้นสหรัฐฯ ต่ำ ทำให้อาจได้รับผลกระทบจำกัดจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า
Fixed Income: ผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Bond yield) อยู่ในระดับสูงในรอบหลายปี และยังอาจไม่ได้ลดลงในระยะเวลาอันใกล้ จากผลกระทบของการขึ้นภาษีทั่วโลกที่ส่งผลให้เงินเฟ้อเริ่มค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่ช่วยในการกระจายความเสี่ยงที่มีความจำเป็นในภาวะความผันผวนจากสงครามการค้าที่ยังมีอยู่ แม้ล่าสุดจะมีความคืบหน้าในการเจรจาการค้าก็ตาม
Vietnam Equity: ตลาดหุ้นเวียดนามสถานการณ์ดูดีขึ้นหลังทรัมป์เลื่อนการขึ้นภาษีออกไป 90 วัน และการเจรจาการค้าเริ่มมีทิศทางดีขึ้น รวมถึงรัฐบาลเวียดนามแสดงท่าทีตั้งใจอย่างหนักในการเจรจากับสหรัฐฯ ล่าสุดรัฐบาลเวียดนามเดินหน้านโยบายปฏิรูปเชิงลึกผ่าน Resolution 68 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ยกระดับภาคเอกชนสู่แรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังมีความเสี่ยงเนื่องจากพึ่งพาการส่งออกเกือบ 100% ของ GDP ซึ่งหากสถานการณ์พลิกผัน เศรษฐกิจเวียดนามก็อาจได้รับผลกระทบหนักได้ โดยแนะนำให้ทยอยลงทุนในหุ้นเวียดนามเมื่อย่อตัวเท่านั้น ไม่ไล่ราคาในช่วงนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในช่วง 90 วันข้างหน้าที่ทรัมป์ยืดระยะเวลาเก็บภาษีตอบโต้ออกไป
[Event Play]
TH Equity: หุ้นไทยยังได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นตลาดทุนของภาครัฐ ผ่านแรงซื้อของกองทุน ThaiESG Extra และมาตรการอื่นๆ อย่าง Jump+ และ TISA ซึ่งช่วยฟื้นความเชื่อมั่น ทำให้ downside จำกัด ล่าสุดดัชนี SET ปรับตัวขึ้นเหนือ 1,200 จุดได้ นับเป็นสัญญาณบวก อีกทั้ง Valuation ของตลาดหุ้นไทยยังถูกเมื่อเทียบกับอดีตและภูมิภาค ทำให้หุ้นไทยยังมีความน่าสนใจ ณ ราคานี้ นอกจากนี้ การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ-ไทย เริ่มมีความหวัง หลังจาก รมต.คลังสหรัฐฯ กล่าวถึงความคืบหน้าเจรจาการค้ากับภูมิภาคเอเชียซึ่งรวมถึงไทยว่ายื่นข้อเสนอที่ดีมาก ทำให้มีแนวโน้มว่าไทยอาจบรรลุข้อตกลงได้เร็วคล้ายกับจีน อย่างไรก็ตาม เริ่มมีแรงกดดันทางการเมืองในประเทศ จาก 1. การโหวตงบปี 69 ปลายเดือนนี้ และ 2. คดีอดีตนายกทักษิณไต่สวนวันที่ 13 มิ.ย. จึงอาจเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทยได้
Global Healthcare: กลุ่ม Global Healthcare โดนแรงกดดันหลัง ปธน. สหรัฐฯ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) วันที่ 12 พ.ค. เพื่อเร่งปรับลดราคายาในประเทศสหรัฐฯ แม้กลไกการบังคับใช้ยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายควบคุมราคายาและภาษีนำเข้าจะยังเป็นความเสี่ยงในระยะสั้น แต่เรามองว่าตลาดได้ตอบสนองไปล่วงหน้าในระดับหนึ่งแล้ว ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่ม Healthcare สะท้อนข่าวลบไปพอสมควร สะท้อนจาก Valuation ของดัชนี MSCI ACWI Healthcare ที่มี FWD P/E 16.05 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ -2 S.D. เรายังคงมองว่ากลุ่ม Healthcare ยังมีความน่าสนใจจากลักษณะหุ้นสไตล์ Defensive โดยเฉพาะกลุ่ม Health Care Providers & Services ที่มีความทนทานและผันผวนต่ำ เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตในช่วงไตรมาส 2 นี้ ซึ่งตรงกับช่วงที่ ปธน.ทรัมป์ ขยายระยะเวลาการเก็บภาษีตอบโต้ออกไป 90 วันพอดี