PDF Available  
Macro Making Sense

Macro Making Sense – 22 พ.ค. 2568

By ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์|22 May 25 7:47 AM
สรุปสาระสำคัญ

สรุปประเด็นการเติบโตของสินเชื่อไตรมาส 1/2025 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

  • ภาพรวมสินเชื่อชะลอตัวต่อเนื่องในไตรมาส 1/2025 โดยชะลอตัวลงทั้งสินเชื่อภาพรวม สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อกลุ่ม SMEs โดยสินเชื่อรวมหดตัว -1.3% หดตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัว -0.4% จากแรงกดดันของสินเชื่อการเกษตร (-7.5% vs. +0.2% ไตรมาสก่อน) และสินเชื่อเช่าซื้อ (-3.3% vs. -3.0% ไตรมาสก่อน) สะท้อนความเปราะบางของภาคการเกษตรไทยที่กำลังเผชิญการแข่งขันจากต่างชาติที่สูงขึ้น ด้านสินเชื่อ SMEs หดตัว -1.8% (vs. -2.5% ไตรมาสก่อน) นำโดยสินเชื่อโรงแรมและร้านอาหาร (-11.4% vs. -11.2% ไตรมาสก่อน) และสินเชื่อเช่าซื้อ (-3.1% vs. -3.6% ไตรมาสก่อน) ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลหดตัว -2.5% (vs. -2.2% ไตรมาสก่อน)

  • ด้าน NPL เพิ่มขึ้นสู่ 2.90% ของสินเชื่อรวม จาก 2.78% จากสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มี NPL สูงขึ้น รวมถึงบัตรเครดิตและสินเชื่อเช่าซื้อที่มีสัดส่วน NPL เพิ่มขึ้นเนื่องจากฐานสินเชื่อที่ลดลง ขณะที่สินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2 หรือ SM) ทรงตัวที่ 6.97% แม้โดยรวมจะปรับลดลงจากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่ากลุ่มเปราะบางทั้งธุรกิจ SME และสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งเช่าซื้อและที่อยู่อาศัยต่างมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีแนวโน้มขยายวงกว้างยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอิย่างยิ่งเมื่อสงครามการค้ารุนแรงขึ้น

  • ภาพดังกล่าวสะท้อนความเข้มงวดของนโยบายการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลือกลดดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อรักษา “Policy Space” ขณะที่ยังคงนโยบายระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ (Debt deleveraging) ผ่านมาตรการ Responsible Lending  ทำให้ภาวะการเงินของไทยตึงตัวต่อเนื่องแม้จะลดดอกเบี้ย สะท้อนจากดัชนีภาวะการเงิน (Financial Condition Index) ที่ตึงตัว การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในรอบ 7 ปี

  • ดังนั้น ในการที่จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจจากสงครามการค้าที่จะรุนแรงขึ้นนั้น ภาคการเงินจึงควรผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อกลับมาสู่เป้าหมาย เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม และการส่งออกกลับมาเริ่มปรับตัวดีขึ้นได้

 

 

  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 มีมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2568 (งบกลาง) เพื่อรักษาการจ้างงานและวางรากฐานการเติบโตในระยะยาว

  • รายละเอียดมาตรการ 1. โครงสร้างพื้นฐาน (น้ำ-คมนาคม)ด้านน้ำ: ป้องกันอุทกภัย, กักเก็บน้ำช่วงแล้ง, ขยายระบบกระจายน้ำและปรับปรุงระบบประปาด้านคมนาคม: ลดปัญหาคอขวดจราจร, ปรับปรุงความปลอดภัย, แก้ไขจุดตัดรถไฟ, สร้างจุดพักรถบรรทุก, พัฒนาเส้นทางเชื่อมเมืองรอง/แหล่งท่องเที่ยว 2. การท่องเที่ยวปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบความปลอดภัย (CCTV) สนับสนุนการท่องเที่ยวในเมืองรอง 3. การส่งออกและผลิตภาพภาคเกษตร 4. เศรษฐกิจชุมชนสนับสนุนกองทุนหมู่บ้าน/เมือง (SML) และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามความต้องการของชุมชน 5. การพัฒนาทุนมนุษย์ลงทุนในด้าน การศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานและสร้างรากฐานเศรษฐกิจระยะยาว

  • อย่างไรก็ตาม แผนของรัฐบาลยังเป็นเพียงแผนการระยะสั้นใน 1 ปีงบประมาณ แต่เรามองว่าหากต้องการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยและเพิ่มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยประเทศ จำเป็นต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในระยะ 5-8 ปี ข้างหน้า

  • โดยเราเสนอให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (ประมาณ 4 ล้านล้านบาท หรือ 22% GDP) โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายด้านเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต โดยกรณีมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่า 4% GDP ต่อปีเราคาดว่าจะเพิ่มการเติบโตขึ้น 1.5-2.0% ต่อปี
Author
Slide3
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5