PDF Available  
Macro Making Sense

Macro Making Sense – 19 พ.ค. 2568

By ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์|19 May 25 9:06 AM
สรุปสาระสำคัญ

สรุปประเด็นทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2568 Moody's ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ การลดทอนสงครามการค้าโลกไม่ง่าย

 

  • ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2568 ท่ามกลางสงครามการค้าโลก แม้เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2568 ยังขยายตัวได้ค่อนข้างดีที่ระดับ 2.9-3.2% (INVX 3.1%) จากแรงหนุนของการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นมากกว่าปกติ แต่แนวโน้มทั้งปีกลับถูกปรับลดคาดการณ์ลงเหลือ 1.4-2.1% จากปัจจัยกดดันหลายด้าน ได้แก่ ผลกระทบจากสงครามการค้าโลกที่จะกระทบการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี การท่องเที่ยวที่ชะลอตัวจากนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาตามเป้า ภาคเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่ส่งผลต่อความต่อเนื่องของนโยบาย ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงที่จำกัดการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ
  • นอกจากนั้น นโยบายของภาครัฐยังไม่ตอบสนองต่อวิกฤตซ้อนวิกฤตนี้อย่างเพียงพอ โดย ธปท. เลือกลดดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปแม้เงินเฟ้อจะต่ำกว่าเป้าหมายมาก ส่วนนโยบายการคลังเน้นการออก Soft Loan มากกว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ขณะที่มาตรการระยะสั้นที่สำคัญก็ยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรม ผลกระทบจากสงครามการค้ายังก่อให้เกิด "แผลเป็นทางเศรษฐกิจ" ทำให้ไทยอาจสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้ามูลค่ากว่า 2.5 ล้านล้านบาท หรือ 14% ของ GDP หากไม่มีการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมและทันท่วงที เราจึงมองว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิคในช่วงครึ่งหลังของปีมีอยู่สูง
  • การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ โดย Moody’s Moody's Ratings ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ จาก Aaa เป็น Aa1 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2568 จากความกังวลเกี่ยวกับ (1) การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น (ปัจจุบันอยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี หรือกว่า 6% ของ GDP และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 9% ภายในปี 2578) (2) ภาระหนี้สาธารณะที่สูงเกินระดับ GDP (คาดการณ์จะถึง 107% ภายในปี 2572) (3) อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นซึ่งเพิ่มต้นทุนการชำระหนี้ และ(4) แนวโน้มการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงเนื่องจากสงครามการค้า
  • การปรับลดอันดับครั้งนี้อาจทำให้สถานะความเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และดอลลาร์เริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่องบประมาณและอาจนำไปสู่วงจรอุบาทว์ที่ต้องกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อชำระดอกเบี้ย การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยการปฏิรูปทางการคลังที่สำคัญ ซึ่งเป็นความท้าทายภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ขัดแย้ง แม้ Moody's จะระบุแนวโน้มอันดับเป็น "มีเสถียรภาพ" แต่ในระยะต่อไป ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอาจสูงขึ้นทั้งจากกระแส Bond vigilante และจากบริษัทจัดอันดับอื่นๆ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มต้นทุนทางการเงินและกดดันสถานะดอลลาร์ในฐานะเงินสกุลหลักของโลกให้สั่นคลอนยิ่งขึ้น
  • การลดทอนสงครามการค้าโลกไม่ง่ายแม้จีนได้ข้อตกลงชั่วคราว แม้จีนจะประสบความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงชั่วคราวกับสหรัฐฯ ให้ลดภาษีจาก 125% เหลือ 10% เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งช่วยฟื้นความเชื่อมั่นตลาดการเงิน แต่การยุติสงครามการค้าโลกยังห่างไกลจากความเป็นจริง เนื่องจากภาษีเฉลี่ยยังคงอยู่ในระดับสูง (39% สำหรับสหรัฐฯ และ 27% สำหรับจีน) และการเจรจากับอีก 88 ประเทศยังคงล่าช้าและเต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งจากความไม่สามารถรักษาความสนใจต่อเนื่องของสหรัฐฯ ความซับซ้อนในการรักษาความสัมพันธ์กับทั้งสองมหาอำนาจ และข้อขัดแย้งเฉพาะของแต่ละประเทศ เมื่อพิจารณาว่าการเจรจาการค้าปกติใช้เวลาเฉลี่ย 18 เดือนถึงการตกลงและ 3 ปีครึ่งถึงขั้นปฏิบัติ เป้าหมายของทรัมป์ที่จะบรรลุ 90 ข้อตกลงใน 90 วันจึงแทบเป็นไปไม่ได้ และมีความเสี่ยงที่เขาอาจ "เชือดไก่ให้ลิงดู" โดยเรียกเก็บภาษีสูงกับบางประเทศเพื่อแสดงความน่าเชื่อถือของคำขู่ ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์การค้าโลกตึงเครียดมากขึ้น
Author
Slide3
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5