สรุปผลการประมาณการเศรษฐกิจโลกและไทยหลังการประกาศ Reciprocal Tariff
นโยบายภาษีนำเข้าใหม่ (Reciprocal Tariff) ของรัฐบาลทรัมป์ได้กำหนดภาษีเพิ่มเติมขั้นต่ำ 10% สำหรับการนำเข้าจากประเทศทั่วโลก (ยกเว้นแคนาดาและเม็กซิโกสำหรับสินค้าที่เป็นไปตามข้อตกลง USMCA) และภาษีรายประเทศในอัตราต่างกัน ทำให้ประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลสูงกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในเอเชีย ต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่สูง โดยตามการประเมินของ Bloomberg Economic ภาษีเฉลี่ยที่สหรัฐเก็บกับทั่วโลกจะอยู่ที่ 28%
อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าจะมีการเจรจา ทำให้ภาษีเฉลี่ยที่รัฐบาลทรัมป์เรียกเก็บกับทั่วโลกจะอยู่ที่ 15% ส่งผลให้มีการปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2025 โดยเศรษฐกิจทั่วโลกจะเติบโตชะลอลงประมาณ 0.8% (p.p.) ซึ่งใกล้เคียงกับที่ IMF เคยทำประมาณการ Scenario Analysis ไว้ก่อนหน้า
ในประมาณการใหม่ เศรษฐกิจโลกจะชะลอลงจาก 3.3% สู่ 2.5% สหรัฐจาก 1.9% สู่ 0.9% ยูโรโซน จาก 0.8% สู่ 0.0% ญี่ปุ่นจาก 1.2% สู่ 0.8% จีนจาก 4.5% สู่ 3.6% อินเดียจาก 6.4% สู่ 6.1% เวียดนามจาก 6.1% สู่ 4.9% และไทยจาก 2.5% สู่ 1.4% โดยเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังจากชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ในการคำนวณ เราพิจารณาจากสัดส่วนการส่งออกต่อ GDP และใช้ผลกระทบจากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลกผ่าน Scenario Analysis ของ IMF ที่ทำ ณ เดือน ต.ค. 2024 เป็นองค์ประกอบในการคำนวณ
ในส่วนนโยบายการเงินสหรัฐ เราปรับประมาณการดอกเบี้ยของ Fed โดยคาดว่าจะคงดอกเบี้ยที่ 4.4% จนถึงสิ้นปี เนื่องจาก (1) มาตรการของทรัมป์ โดยเฉพาะ Reciprocal tariff ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงแรง แต่ (2) เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสู่ 3.0% โดยเร่งขึ้นมากในครึ่งปีหลัง และ (3) Fed เลือกที่จะ respond ต่อความเสี่ยงเงินเฟ้อ โดยเฉพาะความคาดหวังเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้
ด้านเศรษฐกิจไทย เราปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยรุนแรงจาก 2.5% สู่ 1.4% ในปี 2025 โดย GDP จะหดตัวลดลงแรงในช่วงครึ่งหลังของปี แม้จะยังไม่ต่ำกว่าศูนย์ก็ตาม แต่องค์ประกอบของเศรษฐกิจจะหดตัวค่อนข้างแรงในช่วงครึ่งหลังของปี โดยการส่งออกจะหดตัวแรงกว่า 9.6% ในไตรมาส 4 จากที่ขยายตัวในระดับเกือบ 10% ในไตรมาสแรกจากการเร่งส่งออกก่อนสงครามการค้า ส่วนด้านการบริโภคและลงทุนจะหดตัวแรงในครึ่งหลังของปีด้วยเช่นกัน ด้านนโยบายการเงิน เรามองว่า ธปท. จะลดดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2025 ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้น
ด้านตัวแปรทางการเงิน เรามองว่าผลตอบแทนพันธบัตรในปัจจุบันที่ปรับลดลงมากอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป หากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เริ่มมีการเจรจากับรัฐบาลทรัมป์ ประกอบกับการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นหลังจากรัฐบาลผลักดันมาตรการลดภาษีนิติบุคคล ด้านค่าเงินดอลลาร์ที่ปัจจุบันอ่อนค่ามาก อาจปรับแข็งค่าขึ้นหลัง Fed ยังคงไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ท่ามกลาง ธ. กลางอื่น ๆ ที่ลดดอกเบี้ยได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงสู่ 36.5 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปีได้