1. S&P 500 ชะลอตัวใกล้จุดสูงสุด หลังนักลงทุนเริ่มกังวล Valuation
2. กลุ่ม NATO เห็นชอบเพิ่มงบกลาโหมเป็น 5% ของ GDP
3. เฟดคลายเกณฑ์ทุนแบงก์ใหญ่ – ทรัมป์เล็งเปลี่ยนประธานเฟดภายใน ก.ย. หรือ ต.ค.
4. หุ้น BP พุ่ง 10% รับข่าว Shell สนควบรวมกิจการ
5. กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 คงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.75%
1. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แผ่วลงใกล้จุดสูงสุด โดย S&P 500 แทบไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ Nasdaq 100 ขยับขึ้นเล็กน้อยจากแรงหนุน Nvidia ทำจุดสูงสุดใหม่ ด้าน Russell 2000 ร่วงแรง -1.2% น้ำมันรีบาวด์หลังร่วงหนักสองวัน ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าใกล้จุดต่ำสุดรอบ 3 ปี ทองคำขึ้นแตะ $3,333 นักกลยุทธ์บางส่วนยังเชื่อหุ้นเทคฯ และ AI จะพาตลาดทำจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้ หากไม่มีช็อกทางนโยบายเพิ่มเติม
2. ผู้นำ NATO ทั้ง 32 ประเทศเห็นชอบเพิ่มงบกลาโหมเป้าหมายใหม่เป็น 5% ของ GDP เพื่อรับมือภัยคุกคามจากรัสเซีย ซึ่งถือเป็นชัยชนะทั้งของยุโรปและประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะเยอรมนีที่ให้คำมั่นจะสร้างกองทัพแบบดั้งเดิมที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป ด้านฝั่งยุโรปยังแสดงท่าทีให้กดดันรัสเซียมากขึ้น และเร่งส่งอาวุธให้ยูเครน โดยข้อตกลงใหม่นี้จะเปิดทางให้งบกลาโหมสะสมของ NATO แตะระดับหลายล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2035 ส่งผลให้หุ้นกลุ่มป้องกันประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ มีแนวโน้มรับแรงหนุนจากแผนใช้งบกลาโหมระดับประวัติการณ์
3. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เปิดเผยแผนปรับลดเกณฑ์เงินกองทุนขั้นต่ำ (enhanced supplementary leverage ratio – eSLR) ของธนาคารขนาดใหญ่ จากระดับ 5% ลงมาอยู่ในช่วง 3.5–4.5% โดยอนุญาตให้นำสินทรัพย์บางประเภท เช่น พันธบัตรรัฐบาล ออกจากการคำนวณ ถือเป็นชัยชนะบางส่วนของภาคธนาคารที่เรียกร้องให้ผ่อนคลายกฎระเบียบมานาน ขณะเดียวกัน WSJ รายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่จะมารับตำแหน่งแทน Jerome Powell ในตำแหน่งประธานเฟดภายในเดือนกันยายนหรือตุลาคมนี้
4. หุ้น BP พุ่งแรง 10% หลังมีข่าวว่า Shell กำลังอยู่ระหว่างเจรจาเบื้องต้นเพื่อเข้าซื้อกิจการ BP ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะเป็นหนึ่งในดีลที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป โดยอาจทำให้เกิดบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานที่ทัดเทียมกับ ExxonMobil และ Chevron ทั้งนี้ หาก Shell เดินหน้าจริง อาจต้องจ่าย premium ประมาณ 20% จากมูลค่า BP ปัจจุบันที่ 58 พันล้านปอนด์ และอาจเผชิญข้อกังวลด้านการแข่งขันทางการค้าในหลายประเทศด้วย
5. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดย 1 เสียงต้องการลด 0.25% เนื่องจากมองว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันมีความเหมาะสม และช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้ดีอยู่แล้ว พร้อมทั้งระบุว่ายังมีความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกและในประเทศสูงจึงควรมี Policy Space ไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต ด้านนักลงทุนคาดว่า กนง. มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง
ประเด็นที่ต้องติดตาม: Initial Jobless Claims ของสหรัฐฯ คาดว่าจะออกมาที่ 247.0K จากก่อนหน้าที่ 245K และ Pending Home Sales YoY ของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. คาดว่าจะออกมาที่ -2.1% จากก่อนหน้าที่ -2.5%