Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (2330.TW, TSM) บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำจากไต้หวันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันและนิวยอร์ก กำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการเทคโนโลยีโลก ด้วยการเป็นผู้ผลิตชิปเพียงหนึ่งในไม่กี่รายที่สามารถผลิตเทคโนโลยี 3 นาโนเมตรและ 5 นาโนเมตรขั้นสูงได้ ทำให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Apple, NVIDIA, AMD และ Qualcomm ต้องพึ่งพา TSMC ในการผลิตชิปที่ขับเคลื่อนนวัตกรรม AI และสมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุด โดยเฉพาะในยุคที่ความต้องการเทคโนโลยี CoWoS (Chip-on-Wafer-on-Substrate) สำหรับชิปที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อเร่งการประมวลผลของ AI (AI Accelerator) เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนบริษัทต้องขยายกำลังการผลิตเป็นสองเท่าและวางแผนลงทุนเพิ่มอีก 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
TSMC ก่อตั้งในปี 1987 โดย Morris Chang ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวันและ Industrial Technology Research Institute เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไต้หวันสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดย TSMC เป็นบริษัทแรกที่ใช้โมเดล “Pure-Play Foundry” หรือการเลือกที่จะเป็นผู้ผลิตให้กับบริษัทอื่นเท่านั้น ทำให้ลูกค้าสามารถมุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น Apple, Qualcomm, Nvidia และ AMD เติบโต
Morris Chang ผู้ก่อตั้ง มีพื้นฐานจากวงการชิปในสหรัฐฯ เผชิญอุปสรรคทั้งด้านทุนและความเชื่อมั่น แต่ด้วยวิสัยทัศน์และแรงสนับสนุนของรัฐ TSMC จึงสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน ในปี1993 และนิวยอร์กในปี 1997 พร้อมขยายบริการจากการผลิต ไปสู่การทดสอบ การผลิตหน้ากาก และบริการออกแบบ
ปัจจุบัน TSMC คือผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยี AI, 5G และ Metaverse หลังปี 2018 การบริหารเปลี่ยนผ่านสู่ Dr. Mark Liu (ประธาน) และ C.C. Wei (CEO) โดยยังคงยึดตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกไว้อย่างมั่นคง
TSMC มีโครงสร้างรายได้ โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มธุรกิจหลัก
1. High Performance Computing (HPC) - 59% ของรายได้รวม
กลุ่มธุรกิจหลักที่ผลักดันการเติบโตของบริษัท ครอบคลุมชิป AI GPU จาก NVIDIA สำหรับการเทรนโมเดล AI, ชิป AI ASIC ที่ออกแบบเฉพาะงาน AI/ML, HBM Controllers สำหรับหน่วยความจำความเร็วสูง และชิปที่ใช้ใน Data Center และ Cloud Computing ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโมเดล AI ขนาดใหญ่ เช่น ChatGPT และ Gemini รวมถึงการขยายตัวของ Cloud และ Edge Computing ส่งผลให้ธุรกิจนี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
2. Smartphone ship - 28% ของรายได้รวม
ธุรกิจชิปสำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต โดยเฉพาะชิป A-series ของ Apple (A17 Pro, A18) ที่ใช้เทคโนโลยี 3nm และชิปรุ่นเรือธงจาก Qualcomm และ MediaTek แม้จะมีความผันผวนตามฤดูกาล แต่ยังเป็นฐานรายได้ที่มั่นคง โดยมีแนวโน้มเติบโตจากการพัฒนา AI บนมือถือ, เทคโนโลยี On-Device Processing และการเปลี่ยนผ่านสู่ 5G และ 6G
3. Automotive - 5% ของรายได้รวม
กลุ่มธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุด จากการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้าและระบบขับขี่อัตโนมัติ โดยครอบคลุมชิปสำหรับ ADAS, ระบบแบตเตอรี่, Infotainment และการสื่อสาร V2X ได้รับแรงหนุนจากนโยบายรัฐทั่วโลกที่ผลักดัน EV และการแข่งขันจากผู้ผลิตรถชั้นนำ เช่น Tesla, BYD และ Rivian
4. IoT- 5% ของรายได้รวม
ธุรกิจผลิตชิปและเซ็นเซอร์สำหรับอุปกรณ์อัจฉริยะ เช่น Smart Home, Wearables, Industrial IoT และ Smart City เติบโตตามแนวโน้มของ Edge Computing และ 5G ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลและประหยัดพลังงาน อีกทั้งยังตอบรับการขยายตัวของ Smart Manufacturing และระบบอุตสาหกรรมอัจฉริยะ
5. Digital Consumer Electronics (DCE) - 1% ของรายได้รวม
กลุ่มชิปที่ใช้ใน Smart TV, เครื่องเล่นเกม, Audio Devices และ VR/AR Headsets ซึ่งได้รับแรงส่งจากการพัฒนาเทคโนโลยี Immersive และความสนใจใน Metaverse ที่ต้องการการประมวลผลกราฟิกขั้นสูง
6. อื่นๆ - 2% ของรายได้รวม
รวมธุรกิจบริการเฉพาะทางและ Advanced Packaging เช่น CoWoS และ SoIC ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการผลิตชิป AI ที่มีความซับซ้อนและต้องการประสิทธิภาพสูง
โครงสร้างรายได้ที่หลากหลายนี้ช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ขณะที่กลุ่ม HPC ที่เติบโตแข็งแกร่งจากเทรนด์ AI กลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโต
TSMC มีจุดแข็งโดดเด่นในฐานะผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง โดยเฉพาะกระบวนการผลิตระดับ 3 นาโนเมตรและ 5 นาโนเมตร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุดในอุตสาหกรรม และคิดเป็นสัดส่วนรายได้หลักจากลูกค้าชั้นนำระดับโลกในกลุ่ม AI และ High Performance Computing (HPC) นอกจากนี้ TSMC ยังเดินหน้านวัตกรรมด้าน Advanced Packaging อย่างต่อเนื่อง ผ่านเทคโนโลยี CoWoS (Chip-on-Wafer-on-Substrate) และ SoIC (System-on-Integrated-Chips) ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อของชิปและรองรับการประมวลผลที่ซับซ้อนในยุค AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการควบคุมทั้งเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงและกระบวนการบรรจุภัณฑ์ระดับแถวหน้า ทำให้ TSMC สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร และยังคงรักษาความเป็นผู้นำในตลาดชิปขั้นสูงได้อย่างมั่นคงท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง
เทียบกับ Semiconductor Manufacturing International Corporation (SMIC) ในจีน : SMIC คือผู้ผลิตชิปแบบรับจ้างผลิต (pure-play foundry) รายใหญ่ที่สุดในจีน ก่อตั้งในปี 2000 มีสำนักงานใหญ่ที่เซี่ยงไฮ้ และจดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง บริษัทให้บริการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในระดับเทคโนโลยีตั้งแต่ 350nm ถึง 7nm SMIC และ TSMC ต่างเป็นผู้ผลิตชิปแบบ Pure-Play Foundry ที่ไม่ออกแบบชิปเอง แต่รับจ้างผลิตให้ลูกค้า ทั้งคู่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์โลก ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีระดับ 7nm–5nm และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของตน โดย SMIC จากจีน และ TSMC จากไต้หวันอย่างไรก็ตาม TSMC มีเทคโนโลยีล้ำหน้ากว่าและมีฐานลูกค้าทั่วโลกที่แข็งแกร่ง ขณะที่ SMIC ยังตามหลังด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และเผชิญข้อจำกัดจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ แม้จะได้รับการอัดฉีดจากรัฐบาลจีนอย่างเข้มข้นก็ตาม
เทียบกับ KCE Electronics (KCE.BK): ในตลาดไทยแม้จะไม่มีบริษัทที่ทำธุรกิจผลิตเซมิคอนดักเตอร์โดยตรงเหมือน TSMC แต่ KCE Electronics เป็นบริษัทที่ใกล้เคียงในด้านการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง KCE Electronics คือผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) ชั้นนำของไทย ก่อตั้งในปี 1982 โดยมุ่งเน้นตลาดยานยนต์ระดับโลก โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ KCE และ TSMC ต่างเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก โดย KCE ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) สำหรับยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วน TSMC รับจ้างผลิตชิปขั้นสูง เช่น ชิป AI และสมาร์ตโฟนระดับ 3–5 นาโนเมตร แม้ต่างมุ่งขยายกำลังการผลิตและรักษามาตรฐานระดับโลก แต่ KCE อยู่ในระดับ "กลางน้ำ" ของห่วงโซ่การผลิต ขณะที่ TSMC อยู่ในระดับ "ต้นน้ำ" ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
แม้ TSMC จะผู้นำในตลาด แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกและห่วงโซ่อุปทาน การแข่งขันที่รุนแรงจาก Samsung และผู้ผลิตรายอื่น รวมถึงความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวและภัยธรรมชาติในไต้หวัน ซึ่งอาจกระทบต่อการผลิต นอกจากนี้การขยายการผลิตไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและอาจส่งผลต่อกำไรในระยะสั้น อีกทั้งการพึ่งพาลูกค้ารายใหญ่อย่าง Apple และ NVIDIA ทำให้มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อของลูกค้าเหล่านี้
TSMC มีโอกาสการเติบโตที่น่าสนใจในอนาคต จากการที่บริษัทกำลังพัฒนาเทคโนโลยี 2 นาโนเมตร (N2) และ APPLE SHIP ที่จะเริ่มผลิตจำหน่าย ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขัน การขยายกำลังการผลิต CoWoS เป็นสองเท่าเพื่อรองรับความต้องการ AI ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยี Panel Level Packaging และ Co-Packaged Optics จะเปิดโอกาสธุรกิจใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะในตลาด Data Center และ High Performance Computing ที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากเทรนด์ AI และ Cloud Computing
สนใจลงทุนในหุ้น TSMC (Ticker: TSM) และหุ้นเติบโตอื่น ๆ เปิดประสบการณ์ลงทุนไร้ขีดจำกัดกับแอป InnovestX! เข้าถึง 23 ประเทศ 31 ตลาดทั่วโลกได้ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว เปิดบัญชีลงทุน คลิกเลย! 👉 https://innovestx.onelink.me/23if/2jlpsi7b
คำเตือน: ผู้ลงทุนควรศึกษา ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนในต่างประเทศมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน