ข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัปดาห์นี้ตลาดปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจาก (1) เงินเฟ้อ Core PCE สหรัฐต่ำกว่าคาดแต่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนี PCE เดือนพ.ย. 2024 เพิ่มขึ้น 0.1% (MoM) และ 2.4% (YoY) ขณะที่ Core PCE เพิ่มขึ้น 0.1% (MoM) และ 2.8% (YoY)ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 0.2% และ 2.9% สะท้อนแรงกดดันด้านราคาที่เริ่มผ่อนคลาย (2) การใช้จ่ายของผู้บริโภค (Personal spending) ยังคงแข็งแกร่ง โดยการใช้จ่ายที่ปรับด้วยเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.3% ขณะที่เงินเดือนและค่าจ้าง (Personal income) เพิ่มขึ้น 0.6% มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. (3) ดัชนี PMI ภาคการผลิตของทางการจีนเดือน ธ.ค. อยู่ที่ 50.1 ต่ำกว่าคาดที่ 50.3 ด้านดัชนี PMI ภาคบริการและการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 52.2 จาก 50.0 ในเดือนก่อน โดยมี 17 จาก 21 อุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมเพิ่มขึ้น (4) ธนาคารโลกปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2024 เป็น 4.9% จากเดิม 4.8% (5) รัฐบาลจีนประกาศจะออกพันธบัตรพิเศษมูลค่า 3 ล้านล้านหยวน (4.11 แสนล้านดอลลาร์) ในปี 2025 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (5) กำไรภาคอุตสาหกรรมจีนเดือน พ.ย. ลดลง 7.3% ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 (6) รมว. คลังสหรัฐฯ ส่งหนังสือเผยต่อสภาคองเกรสว่าสหรัฐฯ อาจต้องใช้มาตรการพิเศษอย่างเร็วภายในวันที่ 14 ม.ค. 68 เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้และปกป้องความน่าเชื่อถือของสหรัฐ (7) ดัชนี PMI ภาคการผลิตจีนของ Caixin ในเดือน ธ.ค. ปรับตัวลดลงเหลือ 50.5 จาก 51.5 ในเดือนก่อน ต่ำกว่าคาดที่ 51.7 (8) PBOC อัดฉีดสภาพคล่องผ่านการซื้อคืนพันธบัตรมูลค่า 1.7 ล้านล้านหยวน ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเพิ่มสภาพคล่องสุทธิ 5.5 แสนล้านหยวน เทียบเท่ากับผลของการลด RRR 25 bps
ตลาดหุ้นโลก
ตลาดโลก 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาผสมผสาน โดย Core PCE สหรัฐแสดงให้เห็นแรงกดดันด้านราคาที่เริ่มผ่อนคลาย ด้าน PMI จีนภาคการผลิตทั้งของทางการและ Caixin ต่ำกว่าคาด ประกอบกับกำไรภาคอุตสาหกรรมจีนยังลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทำให้ตลาดหุ้นจีนที่ร่วงแรงที่สุดในรอบ 8 ปี ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐสูญเสียมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ใน 4 วันทำการ จากความเสี่ยงเศรษฐกิจจีนและสงครามการค้า
ตลาดหุ้นไทย
สัปดาห์นี้ตลาดไทยปรับตัวลดลงหลังจาก (1) ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย. เสี่ยงมากขึ้น จากการผลิตภาคอุตฯ (MPI) หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภค การลงทุน และรายได้จากท่องเที่ยวลดลง (2) การส่งออกเดือนพ.ย.ขยายตัว 8.2% ดีเกินคาดจากการเร่งส่งออกชั่วคราว ขณะที่สัญญาณวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์เริ่มถดถอย (3) สรท.เผยส่งออกปี 68 แนวโน้มขยายตัวลดลงจากปี 67 เหตุสถานการณ์เศรษฐกิจไม่แน่นอน
ตลาดพันธบัตร
ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ทรงตัวที่ 4.57% ขณะที่ ระยะสั้น 2 ปีปรับลงมาที่ 4.24% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ย 2-10 ปี อยู่ที่ 33 bps
ผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ลดลงที่ 2.31% ขณะที่ระยะสั้น อายุ 2 ปี ทรงตัวที่ 2.01% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 1,982 ล้านบาท
ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์
ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อนสู่ 72.59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังตัวเลขเศรษฐกิจจีนสะท้อนการบริโภคที่ซบเซา และ OPEC+ แสดงความกังวลต่อการเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ ด้านราคาทองคำ (spot) ปรับลงสู่ 2,593.64 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์
ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY) ทรงตัวที่ 109.32 จุด ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงที่ 157.6 เยน ด้านค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงที่ 1.03 ดอลลาร์ต่อยูโร ด้านค่าเงินเอเชีย ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงที่ 34.43 บาท ขณะที่เงินหยวนทรงตัวที่ระดับ 7.30 หยวน