PDF Available  
Macro Making Sense

Macro Making Sense – 8 พ.ค. 2568

By ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์|8 May 25 8:11 AM
สรุปสาระสำคัญ
  • สรุปผลการประชุม FOMC และมุมมองของ INVX ต่อทิศทางเศรษฐกิจการเงิน

4 key takeaways จากการประชุม FOMC

  • คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 4.25% ถึง 4.5% โดยระบุในแถลงการณ์ว่า "ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีก" ความเสี่ยงทั้งในด้านการว่างงานและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นทั้งคู่ โดยขึ้นอยู่กับระดับภาษีศุลกากรเป็นหลัก
  • พาวเวลล์ย้ำว่า "ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน" ที่จะลดดอกเบี้ย เขากล่าวว่าไม่ว่าจะลดดอกเบี้ย หรือคงดอกเบี้ย ต่างมีเหตุผลสนับสนุนทั้งสิ้น และเขาไม่สามารถมั่นใจได้ว่าเหตุผลใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน
  • พาวเวลล์ไม่สนใจแรงกดดันทางการเมืองจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ให้ลดดอกเบี้ย โดยกล่าวว่าแรงกดดันของประธานาธิบดี "ไม่มีผลต่อการทำงานของเราเลย" เขายังกล่าวอีกว่าเขาไม่เคยขอพบกับประธานาธิบดีก่อน
  • ประธานเฟดเห็นพ้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทรัมป์ว่าตัวเลข GDP ไตรมาสแรกที่ประกาศครั้งแรก (-0.3% QoQ, SAAR) จะถูกปรับสูงขึ้นในการประกาศครั้งต่อไป การจ้างงานเติบโตดี ค่าจ้างอยู่ในระดับที่เหมาะสม และการเลิกจ้างต่ำ ส่วนเงินเฟ้อนั้น "เคลื่อนไหวทางด้านข้างในระดับต่ำ" (Inflation ‘Kind of Moving Sideways’) แม้ว่าจะสูงกว่าเป้าหมายของเฟดก็ตาม

 

เรามองว่า

  • 1. FOMC ยืนยันความเสี่ยงต่อเป้าหมายการจ้างงานและเงินเฟ้อมีความสมดุล และจะพิจารณาปรับนโยบายการเงินตามข้อมูลเศรษฐกิจที่เข้ามา สะท้อนท่าทีที่ระมัดระวังมากขึ้นโดยเฉพาะในประเด็นเงินเฟ้อ และต้องการเห็นหลักฐานการชะลอตัวของเงินเฟ้อที่ชัดเจนขึ้นก่อนพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยนโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์อาจทำให้ "เงินเฟ้อและการจ้างงานยิ่งห่างไกลจากเป้าหมายของธนาคารกลาง" ซึ่งอาจทำให้เฟดต้องคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไป พาวเวลล์ยังย้ำว่าเฟด "อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะรอความชัดเจนมากขึ้นก่อนพิจารณาปรับเปลี่ยนท่าทีนโยบาย"
  • 2. ตลาดการเงินเริ่มทรงตัว ตลาดการเงินเริ่มปรับตัวและทรงตัวหลังจากความผันผวนในช่วงที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์ (DXY) ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 99.8 จุด ซึ่งฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยจากระดับต่ำสุดในช่วงเดือนเมษายน แม้เคยลดลงอย่างมากถึง 7.3% จากจุดสูงสุดในเดือนมกราคม 2025 ตลาดพันธบัตรเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปีเคยพุ่งขึ้นสูงสุดถึง 4.51% ในช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 4.3% ซึ่งสะท้อนว่าตลาดเริ่มปรับตัวต่อนโยบายภาษีศุลกากรและความไม่แน่นอนทางการค้า
  • 3. Fed ยืนหยัดต่อมุมมองเชิงวิชาการ ไม่สนแรงกดดันรัฐบาล โดยแสดงจุดยืนในการรักษาความเป็นอิสระทางนโยบายการเงิน แม้จะมีแรงกดดันจากรัฐบาลทรัมป์ให้ลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้เราเชื่อว่า “Fedไม่รีบร้อนลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ แม้จะมีการเรียกร้องจากประธานาธิบดีทรัมป์ให้ทำเช่นนั้น" และจะยังคงรอดูผลกระทบของนโยบายภาษีศุลกากรต่อเงินเฟ้อก่อนตัดสินใจ
  • 4. เรายังคงเชื่อว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบัน (4.25-4.5%) ตลอดทั้งปี 2025 ด้วยเหตุผลหลักคือ: (1) ภาษีศุลกากรจะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อ - นโยบายภาษีศุลกากรของรัฐบาลทรัมป์ที่สูงถึง 145% สำหรับจีนและประมาณ 10-20% สำหรับประเทศอื่นๆ จะส่งผลให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะสั้นถึงปานกลาง แม้ว่าราคาน้ำมันอาจมีแนวโน้มลดลงบ้างจากนโยบายของทรัมป์ในการกดดัน OPEC และสนับสนุนการผลิตในประเทศ แต่ผลกระทบจากภาษีศุลกากรน่าจะมีน้ำหนักมากกว่า (2) ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง - ตัวเลขการจ้างงานยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี แม้อาจมีความเสี่ยงในระยะต่อไป แต่หากเศรษฐกิจไม่ชะลอตัวรุนแรง อัตราว่างงานน่าจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทั้งนี้ เราจะจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงาน ADP อัตราว่างงาน และตำแหน่งงานเปิดใหม่ใกล้ชิด โดยเชื่อว่า หากอัตราว่างงานยังไม่เกิน 4.3% Fed จะยังไม่มีท่าทีที่จะเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน
Author
Slide3
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5