PDF Available  
Macro Making Sense

Macro Making Sense – 6 พ.ค. 2568

By ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์|6 May 25 8:09 AM
สรุปสาระสำคัญ
  • สรุปประเด็นตลาดแรงงานสหรัฐแข็งแกร่ง Fed ยังไม่ลดดอกเบี้ย รองผู้ว่าฯ  ธปท.ระบุ พร้อมผ่อนคลายนโยบายอีก การเจรจาการค้าโลกอาจดีขึ้นแต่ยังท้าทาย

  • ตลาดแรงงานสหรัฐแข็งแกร่ง Fed ยังไม่ลดดอกเบี้ย ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 177,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 138,000 ตำแหน่ง แม้จะชะลอลงจากเดือนมีนาคมที่เพิ่มขึ้น 185,000 ตำแหน่ง อัตราการว่างงานยังคงที่ที่ 4.2% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจ้างงานจากภาคเอกชน ADP ลดลงอย่างต่อเนื่อง (เมษายนอยู่ที่ 62,000 ตำแหน่ง และเฉลี่ย 3 เดือนอยู่ที่ 98,000 ตำแหน่ง) ทั้งนี้ การว่างงานที่ทรงตัว การจ้างงานที่อยู่ในระดับสูง (แม้มีแนวโน้มชะลอลง) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อแม้ยังต่ำแต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในอนาคต บ่งชี้สถานการณ์ mild stagflation ทำเรายังคงประมาณการว่า Fed จะไม่ลดดอกเบี้ย ในการประชุมวันที่ 6-7 พฤษภาคม

  • รองผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ พร้อมผ่อนคลายนโยบายอีกครั้งหากสงครามการค้าส่งผลกระทบ ดร. ปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินมีท่าที "ค่อนข้างผ่อนคลาย" และพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมหากจำเป็นท่ามกลางความกังวลเรื่องสงครามการค้าโลก โดยเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโต 2.5% ในไตรมาสแรก ชะลอลงจาก 3.2% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 แต่ไม่น่าจะหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เป็นครั้งที่สองติดต่อกัน สู่ระดับ 1.75% พร้อมปรับลดคาดการณ์การเติบโตปี 2568 เหลือ 2% โดยอ้างอิงจากสมมติฐานที่ว่าอัตราภาษีของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ระดับ 10% อย่างไรก็ตาม หากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นและอัตราภาษีสูงกว่านี้ การเติบโตอาจชะลอลงเหลือเพียง 1.3% ดร. ปิติย้ำว่า ธปท. พร้อมรับมือกับความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นและจะใช้พื้นที่นโยบายที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อจำเป็น

  • เรามองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ ธปท. จะปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในเดือน มิ.ย. จาก (1) ธปท. ปรับความสำคัญจากเสถียรภาพระบบการเงิน (อันได้แก่การลดระดับหนี้ครัวเรือน) สู่ความเสี่ยงเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลงมาก (2) ธปท. ปรับประมาณการเงินเฟ้อจาก 1.1% สู่ 0.5% ในกรณีฐาน และ 0.2% ในกรณีเลวร้าย บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะเผชิญกับวิกฤตเงินฝืด ซึ่งเป็นช่องทางให้ลดดอกเบี้ยได้ และ (3) การประมาณการเศรษฐกิจในกรณีฐานของ ธปท. ค่อนข้างเป็นการมองโลกในแง่ดี โดยสมมุติฐานของอัตราภาษีที่ไทยจะถูกเก็บจากสหรัฐอยู่ที่ 10% แต่หากเป็น 15% เศรษฐกิจจะเติบโตเพียง 1.3% ซึ่งใกล้เคียงกับมุมมองเราที่ 1.4% ในขณะที่ในปัจจุบัน ยังไม่มีท่าทีว่าไทยจะได้เจรจากับสหรัฐ ทำให้เป็นไปได้สูงที่ไทยจะถูกเก็บภาษีมากกว่า 10%

  • การเจรจาการค้าโลกอาจดีขึ้นแต่ยังท้าทาย ความตึงเครียดทางการค้าเริ่มมีทิศทางผ่อนคลายลงหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเลื่อนแผนขึ้นภาษีออกไป 90 วัน มีสัญญาณบวกเมื่อจีนกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการเจรจากับสหรัฐฯ หลังจากมีการติดต่อผ่านหลายช่องทาง อย่างไรก็ตาม จีนยังคงเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีทั้งหมดก่อนการเจรจาอย่างจริงจัง ขณะที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยอมรับว่าภาษีที่ระดับปัจจุบัน (145% สำหรับสินค้าจีน) "ไม่ยั่งยืน" และจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เรามองว่า ในภาพรวม แม้จะมีสัญญาณว่าการเจรจาระยะต่อไปอาจเกิดขึ้นและตลาดการเงินอาจดีขึ้น แต่เส้นทางการเจรจายังอีกยาวไกลและเต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งจากประเด็นอ่อนไหวของแต่ละประเทศ ท่าทีของสหรัฐฯ ที่ต้องการรักษาระดับภาษีบางส่วนไว้ และอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะสำหรับประเทศขนาดเล็กอย่างไทย ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจจริงได้รับผลกระทบมากขึ้นในระยะต่อไป
Author
Slide3
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5