PDF Available  
Macro Making Sense

Macro Making Sense – 21 เม.ย. 2568

By ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์|21 Apr 25 8:49 AM
สรุปสาระสำคัญ

สรุปประเด็น อนาคตค่าเงินหยวนและดอลลาร์ท่ามกลางสงครามการค้า และแนวทางรับมือภาษีทรัมป์และวิกฤตเศรษฐกิจสำหรับไทย

  • อนาคตค่าเงินหยวนและดอลลาร์ท่ามกลางสงครามการค้า ท่ามกลางสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น การอ่อนค่าของเงินหยวนเป็นเครื่องมือที่จีนอาจเลือกใช้เพื่อรับมือกับภาษี 145% จากสหรัฐฯ เป็นทางออกที่สะดวกกว่าการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (ซึ่ง Bloomberg economic คาดว่าอาจต้องใช้เม็ดเงินถึง 12 ล้านล้านหยวน (8.6% ของ GDP)) เพื่อช่วยภาคส่งออกซึ่งมีความสำคัญถึง 46% ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน โดย สำนักวิจัย Barclay ว่าหยวนอาจอ่อนค่าลงถึง 9 หยวนต่อดอลลาร์จากปัจจุบันที่ 7.3 หยวน (อ่อนค่า 23%) ซึ่งสมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับปี 2018 ที่หยวนอ่อนค่า 10% เมื่อสหรัฐฯ ขึ้นภาษีเพียง 20% ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐเองก็กำลังเผชิญวิกฤตความเชื่อมั่น อ่อนค่าลง 9% เทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลักตั้งแต่กลางเดือนมกราคม (DXY อยู่ที่ 99.2) จากนโยบายการค้าที่ไม่แน่นอนของทรัมป์ สถานะการคลังที่ย่ำแย่ และความขัดแย้งระหว่างเป้าหมายการทำให้ดอลลาร์อ่อนค่ากับนโยบายภาษีที่มักทำให้ดอลลาร์แข็งค่า

  • หากทั้งหยวนและดอลลาร์ต่างอ่อนค่า ตลาดการเงินโลกจะผันผวนและอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินระหว่างประเทศ โดยยูโรอาจเป็นตัวเลือกที่แข็งแกร่งขึ้นด้วยสัดส่วน 1/5 ของทุนสำรองโลก (เทียบกับดอลลาร์ที่มี 3/5) ขณะที่เยนก็มีความน่าสนใจจากนโยบายการเงินที่จำเป็นต้องตึงตัวขึ้นในระยะต่อไป

  • ผลกระทบต่อไทยจะมีหลายด้าน ทั้งการส่งออกไปทั้งจีนและสหรัฐที่อาจแข่งขันยากขึ้นหากหยวนและสหรัฐอ่อนค่า และการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่อาจได้รับผลกระทบหากบาทแข็งค่าเทียบดอลลาร์ ภาครัฐควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พิจารณากระจายทุนสำรองให้หลากหลายขึ้น (โดยอาจเพิ่มการถือครองสกุลยูโรเยน และทองคำ) และเตรียมมาตรการรองรับการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่อาจผันผวน

  • ขณะที่ภาคเอกชนควรบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรัดกุม พิจารณาการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยง (Hedging) กระจายตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้า รวมถึงปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้ลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป และแสวงหาโอกาสจากการที่ห่วงโซ่อุปทานโลกมีการปรับเปลี่ยน (Supply Chain Reconfiguration) ซึ่งไทยอาจมีโอกาสดึงดูดการลงทุนจากบริษัทที่ต้องการกระจายฐานการผลิตออกจากจีนหรือสหรัฐฯ

  • แนวทางรับมือภาษีทรัมป์และวิกฤตเศรษฐกิจสำหรับไทย ไทยควรเน้นการเจรจากับสหรัฐฯ ตามกรอบ 5 ประเด็นที่รองนายกฯ พิชัย ชุณหวชิรกำลังเตรียมไปเจรจา ได้แก่ ความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนกัน การเปิดตลาดสินค้าเกษตรแบบเจาะจง (ไม่รวมเนื้อหมู) การนำเข้าสินค้าจำเป็นจากสหรัฐฯ การคัดกรองสินค้าส่งออกป้องกันการสวมสิทธิ และส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐฯ พร้อมกับเตรียมเศรษฐกิจรับมือวิกฤตทั้งในระยะสั้นผ่านนโยบายการเงิน (ลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2025) และนโยบายการคลัง (ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 4 ล้านล้านบาทใน 5 ปี) นอกจากนี้ภาครัฐควรสนับสนุนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและมีศักยภาพ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออกที่พึ่งพาสหรัฐฯ อาหารแปรรูปและเกษตรมูลค่าสูง SMEs และ Startups ที่มีนวัตกรรม อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน และการท่องเที่ยวและบริการ

  • ในระดับภูมิภาค ไทยควรร่วมมือกับประเทศอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากภาษี เร่งแก้ไขปัญหาการค้าภายในกลุ่มที่ยังต่ำเพียง 21% โดยลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี ขณะเดียวกันควรขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเร่งเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป และมองหาโอกาสในตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ผ่านการพัฒนาท่าเรือฝั่งอันดามัน วิกฤตนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ไทยและอาเซียนต้องร่วมมือกันมากขึ้น เกื้อกูลซึ่งกันและกันแทนที่จะแข่งขัน พร้อมกับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้แข็งแกร่งและยืดหยุ่น เพื่อวางรากฐานการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาวท่ามกลางระเบียบโลกใหม่
Author
Slide3
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5