Macro Making Sense 1
PDF Available  
Macro Making Sense

Macro Making Sense – 23 ธ.ค. 2567

By ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์|23 Dec 24 8:27 AM
สรุปสาระสำคัญ

สรุปประเด็น เงินเฟ้อ Core PCE ต่ำกว่าคาด ประมาณการทิศทางดอกเบี้ยโลกและ Yield และค่าเงิน วิเคราะห์ประเด็นรัฐศาสตร์การเมือง ปี2024-25

เงินเฟ้อ Core PCE ต่ำกว่าคาดแต่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

  • ดัชนี PCE เดือนพ.ย. 2024 เพิ่มขึ้น 0.1% (MoM) และ 2.4% (YoY) ขณะที่ Core PCE เพิ่มขึ้น 0.1% (MoM) และ 2.8% (YoY)ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 0.2% สะท้อนแรงกดดันด้านราคาที่เริ่มผ่อนคลาย อย่างไรก็ตาม จากการประชุม FOMC ล่าสุด สะท้อนท่าที Fed ที่ยังคงระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยมองว่าการควบคุมเงินเฟ้อจะใช้เวลานานกว่าที่คาด ทั้งนี้ เรามองว่า ทิศทางเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลทรัมป์เป็นสำคัญ

ประมาณการทิศทางดอกเบี้ยโลกและ Yield และค่าเงิน

  • เราปรับประมาณการทิศทางดอกเบี้ยนโยบายธนาคารกลางสำคัญโลกดังนี้ (1) ดอกเบี้ย FFR จะลดลงอีก 50bps ในปี 2025 โดยจะลดในไตรมาส 1/25 และ 2/25 ครั้งละ 25bps และยุติการลด (2) ดอกเบี้ย ECB จะลดลง 100 bps ในปี 2025 โดยจะลดในการประชุมเดือน ม.ค. มี.ค. เม.ย. และ มิ.ย. ครั้งละ 25bps และยุติการลด (3) ดอกเบี้ย BOJ จะขึ้น 25 bps ในปี 2025 ในการประชุมเดือน พ.ค. หลังจากที่รัฐบาลประกาศมาตรการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคในเดือน ม.ค.-มี.ค. (4) ดอกเบี้ย BOT จะลง 75 bps ในปี 2025 ในการประชุมเดือน ก.พ. มิ.ย. และ ต.ค.
  • การปรับประมาณการดังกล่าว ทำให้เราคาดการณ์ทิศทางผลตอบแทนพันธบัตรและอัตราแลกเปลี่ยนดังนี้ (1) ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะสูงขึ้นกว่าการประมาณการเดิมเล็กน้อย โดยเป็นไปได้ที่อาจเห็นผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี แตะระดับ 4.70% ในช่วงปลายปี 2025 (2) ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าสูงสุดในไตรมาสที่ 2/25 ที่ประมาณ 107.5 ก่อนที่จะเริ่มลดลงใน 2H25 และไปหยุดที่ประมาณ 105 (3) เงินบาทจะอ่อนค่าลงอีกเล็กน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในครึ่งปีแรก แต่อ่อนต่อได้อีกในไตรมาสที่ 3 จากโอกาสที่ ธปท. ต้องลดดอกเบี้ยอีก 25 bps ในครึ่งปีหลัง

 

วิเคราะห์ประเด็นรัฐศาสตร์และการเมือง ปี2024-2025

  • ปี 2024 เป็นปีแห่งความท้าทายระดับโลก ทั้งจากสงครามที่ยังคงดำเนินอยู่ในหลายภูมิภาค รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในกว่า 76 ประเทศที่ครอบคลุมประชากรกว่าครึ่งโลกได้แสดงถึงความแข็งแกร่งของระบอบประชาธิปไตย เช่น การเปลี่ยนแปลงในอังกฤษและอินเดีย ในขณะที่ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการอย่างจีน รัสเซีย และอิหร่าน กลับแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนที่ชัดเจน ส่วนสหรัฐอเมริกายังคงแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้าน AI แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศก็ตาม
  • เรามองว่า ปี 2025 จะมี 5 ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา ได้แก่ (1) การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ที่จะส่งผลต่อการเมืองโลกและความสัมพันธ์กับพันธมิตร โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้า รวมถึงประเด็นด้านการคลังในประเทศ (2) วิกฤตเศรษฐกิจจีนที่อาจลุกลามภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ที่ยังคงยึดมั่นในนโยบายควบคุมเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด (3) อนาคตของยุโรปที่เผชิญความท้าทายทั้งจากการคุกคามของรัสเซีย ความล้าหลังทางเทคโนโลยี และประเด็นการเมือง (4) การปรับตัวของอิหร่านและพันธมิตรในตะวันออกกลางที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในภูมิภาค (5) การแข่งขันด้าน AI ที่สหรัฐฯ ยังคงนำหน้า แต่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น
  • ในส่วนการที่สภาคองเกรสหลีกเลี่ยงวิกฤต Government Shutdown เรามองว่า แม้วิกฤตครั้งนี้จะรอดพ้นจนถึงวันที่ 14 มี.ค. แต่ในปี 2025 ประเด็นด้านการเจรจาด้านการคลังในสหรัฐจะมีปัญหามาก ทั้งจากการต่ออายุงบประมาณ การเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ การขยายมาตรการลดภาษี ที่จะเผชิญทั้งจากความขัดแย้งในพรรครีพับลิกันเองและจากเดโมแครต
Author
Slide3
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5