Keyword
PDF Available  
Special Report

กลยุทธ์การลงทุน - กลยุทธ์ลงทุนตลาดหุ้นไทย หลังล่าสุดสหรัฐแจ้งเรียกเก็บภาษีศุลกากรจากไทยที่ 36%

8 Jul 25 10:17 AM
สรุปสาระสำคัญ

INVX มองช่วงสั้น SET จะผันผวนสูงและมีแนวโน้มปรับตัวลง จากความกังวลไทยถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีศุลกรในอัตรา 36% สูงกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญในกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน กดดันให้ GDP ไทยชะลอตัว ทั้งนี้แม้สถานการณ์ล่าสุดจะสอดคล้องกับกรณี Worse Case ที่เราเคยประเมินไว้ โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ กลุ่มผู้ส่งออกอาหารทะเลและอาหารสัตว์ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มนิคมฯ อย่างไรก็ดี มองไทยยังมีเวลาเจรจาการค้ากับสหรัฐในช่วงก่อนภาษีจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ส.ค. 68 อีกทั้งหุ้นในกลุ่มดังกล่าวมีผลกระทบต่อกำไรตลาดไม่มาก ทำให้ระยะสั้นคาด SET จะยังไม่ปรับลงไปต่ำกว่า 1056 (จุดต่ำสุดเดิมที่เกิดขึ้นจากประกาศภาษีครั้งแรกเมื่อ เม.ย.) ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนระยะสั้นในช่วงตลาดผันผวน แนะนำทยอยสะสม 1) หุ้น Defensive ที่ผันผวนต่ำและผลการดำเนินงานต้านทานความเสี่ยงภายนอกได้ อีกทั้งยังสามารถจ่ายปันผลสม่ำเสมอ แนะนำ ADVANC DIF BCH 2) หุ้น Undervalue (PER PBV < -1SD) และฐานะการเงินแข็งแกร่ง สามารถจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ แนะนำ BDMS BBL TIDLOR สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง และเชื่อว่าการเจรจา (ก่อนที่ภาษีจะมีผลบังคับใช้) จะทำให้สหรัฐพิจารณาปรับลดภาษีไทยลงมาอยู่ที่ระดับ 20% หรือต่ำกว่า อาจพิจารณาเก็งกำไรในหุ้นที่คาดฟื้นตัวเร็ว แนะนำ AMATA GPSC WHA

  • ล่าสุดสหรัฐฯ ส่งจดหมายระบุถึงอัตราภาษีศุลกากรใหม่ที่สหรัฐจะเรียกเก็บจากประเทศต่างๆ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 68 โดยไทยถูกเก็บในอัตรา 36% เท่าเดิม หากเทียบประกาศเดิมเมื่อ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง INVX มองว่าช่วงสั้น SET จะผันผวนสูงและมีแนวโน้มปรับตัวลง เนื่องจากกังวลไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและส่วนแบ่งตลาดลดลงในสหรัฐ รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการย้ายฐานการผลิตและการลดลงของ FDI หลังโดนเก็บภาษีศุลกากรสูงกว่าประเทศคู่แข่งในกลุ่มอาเซียน อย่างเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งจะกดดันให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง

  • ทั้งนี้ INVX ได้ประเมินผลกระทบของมาตรการเก็บภาษีสินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐไปในรายงานเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดสอคคล้องกับกรณี Worse Case คือ ไทยต้องเผชิญภาษีส่งออกที่ระดับ 36% จึงทำให้คาดปีนี้ GDP จะหดตัวที่ -1.1% ซึ่งถือเป็นการชะลอตัวอย่างรุนแรงที่สุด โดยการส่งออกคาดจะลดลงเกิน 10% ในช่วง 2H68 ขณะที่ SET Index ประเมินมีโอกาสปรับตัวลงไปหลุด 1000 จุด หากไม่สามารถเจรจาใดๆ เพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ดี มองไทยยังมีเวลาเจรจาการค้ากับสหรัฐ ซึ่งล่าสุดไทยมีแผนเสนออัตราภาษีนำเข้ากับสินค้าสหรัฐ 0% (ไม่ได้ให้หมดทุกรายการ) เช่นเดียวกับเวียดนาม ซึ่งคงต้องติดตามว่าสหรัฐอาจพิจารณาปรับลดภาษีไทยลงจากที่ตั้งไว้ นอกจากนั้นภาครัฐอาจเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงนโยบายการเงินผ่านการลดดอกเบี้ยฉุกเฉินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ สำหรับผลกระทบลบต่ออุตสาหกกรมกรณีที่ไทยปรับลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐเหลือ 0% ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มเครื่องดื่ม และกลุ่มอาหาร (กรณีเปิดให้นำเข้าเนื้อหมูได้) ด้านกลุ่มที่อาจได้ประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้าจากต้นทุน LNG ที่ลดลง  

  • ล่าสุดสหรัฐฯ ส่งจดหมายถึงผู้นำประเทศต่างๆ โดยระบุว่าอัตราภาษีใหม่นี้เท่ากับต้นทุนในการทำธุรกิจกับสหรัฐซึ่งเป็นตลาดอันดับหนึ่งของโลก โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 68 โดยไทยถูกเก็บในอัตรา 36% เท่าเดิมหากเทียบประกาศเดิมเมื่อ 2 เม.ย. พบว่า 8 ประเทศถูกปรับลดภาษีนำเข้า ได้แก่ ลาว (จาก 48% → 40%), เมียนมา (44% → 40%), กัมพูชา (49% → 36%), บังกลาเทศ (37% → 35%), เซอร์เบีย (37% → 35%), บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (35% → 30%) ตูนิเซีย (28% → 25%) และคาซัคสถาน (27% → 25%) ขณะที่ 4 ประเทศอัตราภาษีไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ ไทย (36%), อินโดนีเซีย (32%), แอฟริกาใต้ (30%) และเกาหลีใต้ (25%) ส่วน 2 ประเทศที่ถูกปรับเพิ่มภาษี ได้แก่ ญี่ปุ่น (24% → 25%), มาเลเซีย (24% → 25%)

  • ทั้งนี้ในส่วนของไทย สหรัฐฯ ระบุว่าแม้จะยังเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์การค้า แต่จำเป็นต้อง “ก้าวต่อไป” ด้วยเงื่อนไขการค้าที่ “สมดุลและเป็นธรรมมากขึ้น” โดยระบุว่าความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทยที่ผ่านมา “ไม่เป็นธรรม และไม่อยู่บนหลักต่างตอบแทน (reciprocal)” จึงประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยที่ 36% แยกจากอัตราภาษีรายอุตสาหกรรม และหากพบว่า สินค้ามีการสวมสิทธิ (transship) เพื่อเลี่ยงภาษี จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้น

  • อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ระบุว่าหากไทยหรือบริษัทไทยเลือกลงทุนในสหรัฐฯ จะไม่มีการเก็บภาษีนำเข้า และรัฐบาลสหรัฐฯ ยินดีเร่งรัดการอนุมัติที่จำเป็น นอกจากนี้ท้ายจดหมายระบุว่า หากไทยยกเลิกนโยบายทางภาษีและอุปสรรคการค้าแบบไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers) สหรัฐฯ อาจพิจารณาลดภาษีที่ตั้งไว้ และยืนยันว่าไทยจะ “ไม่ผิดหวัง” กับสหรัฐอเมริกาในฐานะคู่ค้าระยะยาว

 

ภาษี.JPG

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5