Company Earning.pptx
PDF Available  
กลยุทธ์การลงทุนรายไตรมาส

กลยุทธ์การลงทุนรายไตรมาส 1/2568 - ความผันผวนสูง ผลตอบแทนต่ำ

20 Nov 24 10:41 AM
สรุปสาระสำคัญ

กลยุทธ์การลงทุน (1Q25)

เราคาดว่าตลาดจะผันผวนค่อนข้างมากใน 1Q25 เนื่องมาจากนโยบายการค้าของทรัมป์ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลดีต่อตลาดใน 1Q25 ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่คลี่คลายลงเป็นปัจจัยกระตุ้นสำหรับ risk premium และ valuation ในขณะเดียวกัน ดอลลาร์ที่ผันผวนอาจทำให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาด EM และไทยค่อนข้างจำกัด เราชอบบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศเป็นหลักพร้อมกับแรงสนับสนุนด้านนโยบายและมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
มองบวกอย่างระมัดระวังใน 1Q25; ระมัดระวังอย่างมากในปี 2025
หุ้นเด่นใน 1Q25 ของเรา – ADVANC, AOT, BCH, CPALL, HMPRO
เน้นลงทุนในหุ้น domestic play และหุ้นเชิงรับที่กำไรเติบโต

InnovestX กลยุทธ์การลงทุน 1Q25 – ความผันผวนสูง ผลตอบแทนต่ำ

สหรัฐฯ Soft landing; จีนชะลอต่อ; ไทยเผชิญ Global Headwind เศรษฐกิจโลกในปี 2025 แสดงสัญญาณที่แตกต่างกัน: แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวดีเกินคาด แต่ Momentum จะชะลอลงในระยะต่อไป (Soft-landing) ขณะที่ยุโรปเริ่มดีขึ้น แต่อัตราเติบโตน้อยกว่าสหรัฐ จีนชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ เราคงประมาณการปีนี้ที่ 4.8% และไทยจะเร่งตัวขึ้นสู่ 3.0% การเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าทุกประเภทเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น

หลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย การเติบโตคือสิ่งสำคัญ ในอดีตที่ผ่านมาตลาดหุ้นมักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบที่ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะลดลงก่อนที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก แต่การลดลงอย่างมีนัยสำคัญมักเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจถดถอยเท่านั้น เมื่อความกังวลเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจข้ามาแทนที่ความกลัวเรื่องเงินเฟ้อ พันธบัตรจึงกลายเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนที่เชื่อถือได้มากขึ้น

Trumponomics 2.0 นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์มีแนวโน้มที่จะเน้นการส่งข้อความทางการเมืองมากกว่าการดำเนินการจริง โดยยังคงยึดหลัก ‘America First’ แม้ว่านโยบายของทรัมป์จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญอาจช่วยชดเชยความเสี่ยงดังกล่าวและส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตได้ จากข้อมูลของ IMF ภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่จีน สหภาพยุโรป และไทยจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ไม่รุนแรงมากนัก

ภาษีศุลกากรอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองด้านอัตรากำไรของหุ้น ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อปัจจัยพื้นฐานของหุ้นทั่วโลกอาจรุนแรงขึ้นหากมีการเก็บภาษีศุลกากรครอบคลุมสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น หรือมีการเก็บภาษีในวงกว้างมากขึ้น ประกอบกับระดับหนี้ของรัฐบาลและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น แม้ว่าภาษีศุลกากรเริ่มแรกของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัททั่วโลก แต่บริษัทที่มีรายได้จากสหรัฐฯ สูงกลับมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น แสดงถึงความยืดหยุ่นในการปรับตัว

จาก Goldilocks สู่ stagflation แม้ว่าตลาดจะโฟกัสที่ความเสี่ยงจากการเก็บภาษีศุลกากรในทันที แต่ผลกระทบจากสงครามการค้าในวงกว้างยังคงไม่ได้รับการประเมินอย่างเพียงพอ การลดภาษีเพิ่มเติม การเพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศ และข้อจำกัดด้านการย้ายถิ่นฐานอาจกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อ ซึ่งเสี่ยงต่อการที่เฟดจะต้องกลับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นก่อนเวลาอันควร การเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของทรัมป์น่าจะหมายถึงการขึ้นภาษีสินค้าจากจีน ซึ่งจะทำให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในครึ่งหลังของปี 2025 อ่อนแอลง

เพิ่มความหลากหลายในการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลกจะส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยและค่าเงิน การกลับมาของภาวะเงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงหลักต่อการลงทุนในหุ้นทั่วโลกในปี 2025 ด้วย EPS growth ที่ใกล้เคียงกันในแต่ละภูมิภาค เราจึงแนะนำให้คงสถานะการลงทุนในตลาดสหรัฐฯ และเพิ่มการลงทุนในตลาดต่างประเทศที่มีมูลค่าต่ำเพื่อเพิ่มความหลากหลายและป้องกันความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของทรัมป์

ครึ่งแรกดีครึ่งหลังแย่ นโยบายการเงินทั่วโลกอยู่ในทิศทางผ่อนคลาย แต่ภาษีศุลกากรของทรัมป์ทำให้ผลกระทบมีน้อยลง แนวโน้มการเติบโตยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวังท่ามกลางความเสี่ยงทางการค้าของสหรัฐฯ ขณะที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยืดเยื้อ ตลาดมีแนวโน้มที่จะมีความผันผวนสูงและให้ผลตอบแทนต่ำ โดยผลตอบแทนจะเป็นบวกใน 1H25 และแย่ลงใน 2H25 เราคาดว่า SET Index จะปรับตัวขึ้นไปถึง 1,550 จุด ในปี 2025

โฟกัสที่หุ้น domestic และหุ้นเชิงรับ เราชอบบริษัทที่ผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัว รวมถึงได้ประโยชน์จากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวด้วยแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีลักษณะเป็นหุ้นเชิงรับ ดังนั้นเราจึงเลือก ADVANC AOT BCH CPALL HMPRO เป็นหุ้นเด่นใน 1Q25



Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5