Macro Making Sense 1
PDF Available  
Macro Making Sense

Macro Making Sense – 03 ก.พ. 2568

By ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์|3 Feb 25 8:05 AM
สรุปสาระสำคัญ

เงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่อนคลาย ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีแคนาดา-เม็กซิโก-จีน

INVX ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2025

เงินเฟ้อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณผ่อนคลาย แต่กำลังซื้อผู้บริโภคน่าห่วง

ดัชนีราคาการบริโภคพื้นฐาน (Core PCE) เดือนธันวาคม 2567 จะปรับขึ้นเพียง 0.2% ตามคาด สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อที่ผ่อนคลาย แต่เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจอื่นๆ ส่งสัญญาณน่ากังวล โดยเฉพาะฐานะการเงินของผู้บริโภคที่อ่อนแอลง สะท้อนจากรายได้ที่แท้จริงที่แทบไม่เติบโตต่อเนื่องสองเดือน และอัตราการออมที่ลดลงเหลือ 3.8% ต่ำสุดในรอบ 2 ปี ขณะที่แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้อัตราดอกเบี้ยจำนอง 30 ปีพุ่งแตะ 7.02% ส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยชะลอตัวรุนแรง โดยยอดขายบ้านใหม่หดตัวเหลือเพียง 2 ใน 3 ของจุดสูงสุด ปัจจัยเหล่านี้อาจนำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้นในปี 2568

ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีแคนาดา-เม็กซิโก-จีน กระทบการค้าโลกครั้งใหญ่

ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ โดยเรียกเก็บภาษี 25% จากแคนาดาและเม็กซิโก และ 10% จากจีน โดยอ้างเหตุผลด้านการควบคุมยาเสพติด แม้จะลดอัตราภาษีสินค้าพลังงานจากแคนาดาเหลือ 10% แต่มาตรการนี้มีแนวโน้มขยายวงกว้างไปยังสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิปคอมพิวเตอร์ ยา และเหล็ก ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามการค้าและสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลก

เราคงประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2568 ที่ 1.9% ต่ำกว่าการคาดการณ์ของโกลด์แมน แซคส์ เจพีมอร์แกน และไอเอ็มเอฟ ที่ 2.5-2.9% ขณะที่ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 2.7% จากเดิม 2.5% โดยมีสมมติฐานว่าสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% และจีน 10% และราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเคลื่อนไหวในกรอบ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ส่งผลให้เราปรับลดคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในปี 2568 เหลือเพียงครั้งเดียวที่ 25 bps ในเดือน มิ.ย. ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.1% จากเดิมที่คาดว่าจะลด 50 bps สู่ระดับ 3.9%

เราปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2025 จาก 2.7% เป็น 2.5%

เราปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้า โดยเรามองว่าสงครามการค้าแบบภาษีในภาพรวม ทำให้ปริมาณการค้าทั่วโลกลดลง และกระทบต่อการส่งออกไทยในภาพรวม ทำให้เราปรับประมาณการส่งออกลดลง จาก 0% เป็น -1.0% เช่นเดียวกับปี 2019 ที่ส่งออกหดตัวที่ -2.6% จากขยายตัว 6.9% ในปี 2018

นอกจากนั้น เราปรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลง (จาก 2.2% และ 0.5% เป็น 1.9% และ -0.2%) ผลจากนโยบายการเงินที่ตึงตัว โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณว่ายังจะไม่ลดดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มชะลอตัวกว่าคาดก็ตาม เราจึงปรับลดประมาณการการลดดอกเบี้ยเหลือ 2 ครั้ง โดยจะลดในเดือน ส.ค. และ ต.ค.

Author
Slide3
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5