Macro Making Sense 3
PDF Available  
Macro Making Sense

Macro Making Sense – 13 ม.ค. 2568

By ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์|13 Jan 25 7:25 AM
สรุปสาระสำคัญ

สรุปประเด็นตลาดแรงงานสหรัฐแกร่งเกินคาด ‘คลัง’ เร่งดันวอลเล็ต ‘คริปโท’ “ไทยบีเอ็มเอ” ชี้บริษัทถูกลดเครดิตหุ้นกู้เพิ่ม

  • ตลาดแรงงานสหรัฐฯ แสดงสัญญาณแข็งแกร่งเกินคาด โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นถึง 256,000 ตำแหน่ง สูงสุดในรอบ 9 เดือน และอัตราการว่างงานลดลงเหลือ 4.1% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขแรงงานที่แข็งแกร่งนี้กลับสร้างความกังวลให้ตลาดการเงิน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะ 4.8% ใกล้ระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลง 1.54% นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ม.ค. 2025 ปรับตัวลดลงท่ามกลางความกังวลด้านเงินเฟ้อที่คาดว่าจะพุ่งขึ้นเป็น 3.3% ในอีก 1 ปีข้างหน้า และความไม่แน่นอนทางนโยบายที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ เรามองว่า ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวนมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อ Wealth Effect และอาจนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

  • ‘คลัง’ เร่งดันวอลเล็ต ‘คริปโท’ พร้อมผลักดัน Stablecoin สกุลเงินบาท “คลัง” ลุยแซนด์บ็อกซ์ภูเก็ต หนุนใช้คริปโทเคอร์เรนซี ใช้จ่ายสินค้าในประเทศ เริ่มทดลองใช้ภายในปี 2568 เร่งเคลียร์ ธปท.ฝ่าด่านหิน การใช้คริปโทเคอร์เรนซี แลกเปลี่ยนขัด พ.ร.บ.การเงิน ด้าน ไทยรัฐ ออกบทวิเคราะห์ว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในเวทีสัมมนาของพรรคเพื่อไทยที่หัวหินว่า นายกฯ (แพทองธาร) อาจให้กระทรวงการคลังออก stablecoin โดยมีพันธบัตรรัฐบาลค้ำประกัน เพื่อให้มีเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้จีดีพีปีหน้าขยายตัวได้ 3.5%

  • เรามองว่า ความพยายามทั้งสองเป็นการเพิ่มปริมาณเงินในระบบของรัฐบาล ผ่านการออกเงินตรารูปแบบใหม่ที่ไม่ผ่าน ธปท. ซึ่งอาจเป็นไปได้ยากในปัจจุบัน โดยหาก (1) ธปท. เห็นว่าการใช้ Cryptocurrencies เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน อาจกระทบกับปริมาณเงินในระบบ และกระทบต่อเสถียรภาพราคา ยกเว้นแต่ว่า ธปท. จะออกพันธบัตรมาดูดสภาพคล่องกลับ (Sterilization) ซึ่งก็จะทำให้ปริมาณเงินสุทธิในระบบไม่เพิ่มขึ้นและ/หรือ (2) ธปท. อาจเห็นว่าระบบการชำระเงินใหม่อาจมีความเสี่ยง ไม่เสถียร และเป็นความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงิน ก็อาจไม่อนุญาตในประเด็นดังกล่าวได้

  • “ไทยบีเอ็มเอ” ชี้บริษัทถูกลดเครดิตหุ้นกู้เพิ่ม ThaiBMA กล่าวว่า มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยปี 2567 เท่ากับ 17.1 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% จากปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 913,141 ล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อนหน้า จากที่ทำได้ทะลุ 1 ล้านล้านบาท และคาดว่าปีนี้ ยอดการออกหุ้นกู้ใหม่จะอยู่ที่ 850,000-900,000 ล้านบาท

  • เรามองว่า แม้ทิศทางตลาดตราสารหนี้ไทยจะเติบโต ได้ 3.6% ในปี ก่อน แต่การออกหุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวกลับลดลง 10% โดยเฉพาะกลุ่มไฮยีลด์ที่ลดลงถึง 50% สะท้อนความกังวลต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับจำนวนบริษัทที่ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือที่เพิ่มขึ้นจาก 35 เป็น 46 บริษัท สถานการณ์นี้สะท้อนภาวะความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพคล่องที่ตึงตัวขึ้น จึงกระทบธุรกิจขนาดเล็กที่มีสายป่านสั้นกว่า เห็นได้จากธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดียังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจขนาดกลาง-เล็กและกลุ่มความเสี่ยงสูงเข้าถึงตลาดทุนได้ยากขึ้น ซึ่งเรามองว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยต่อ สถานการณ์การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น
Author
Slide3
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5