Keyword
PDF Available  
Macro Making Sense

Macro Making Sense – ไทยเสี่ยงมากขึ้นภายใต้ภาษีนำเข้า Monetary Policy Forum มองโลกแง่ดีเกินไป ขณะที่ทรัมป์กำลังใช้ประเทศที่สามปิดล้อมจีน

By ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์|14 Jul 25 8:30 AM
สรุปสาระสำคัญ

สรุปเศรษฐกิจไทยภายใต้แรงกดดันภาษีนำเข้าสหรัฐฯ มุมมองของเราต่อ Monetary Policy Forum ทรัมป์ใช้ประเทศที่สามปิดล้อมจีน

  • เศรษฐกิจไทยภายใต้แรงกดดันภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญวิกฤติครั้งใหม่จากภาษีสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อ GDP ปี 2568 โดยเฉพาะเมื่อพื้นฐานเศรษฐกิจยังอ่อนแออยู่แล้วด้วยเงินเฟ้อติดลบ การส่งออกที่จะชะลอตัว และการลงทุนเอกชนที่ไม่ฟื้นตัว โดยผลกระทบลูกโซ่จะเริ่มจากการปิดกิจการ SMEs ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารแปรรูป เครื่องหนัง และสิ่งทอ นำไปสู่การตกงานและกำลังซื้อหดหาย ขณะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่เหลือก็มีข้อจำกัด โดยการท่องเที่ยวเผชิญปัญหานักท่องเที่ยวจีนลด 1/3 จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐช้าอยู่ที่ 35.1% และการส่งออกไปตลาดอื่นแข่งขันยากกับสินค้าจีนราคาถูก สำคัญที่สุดคือจีนที่เคยเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับสอง (11.5%) กลับกลายเป็น "ภัยคุกคาม" เนื่องจากใช้กลยุทธ์ Transshipment โดยการนำเข้าของไทยจากจีนเร่งตัว 40% ขณะการส่งออกจีนไปสหรัฐฯ ลด 34.4% ไทยจึงต้องเปลี่ยนเป้าหมายส่งออกไปสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน พร้อมเร่งมาตรการเร่งด่วนคือลดดอกเบี้ยนโยบาย เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และช่วยเหลือ SMEs เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหากไม่มีการรับมือที่เหมาะสม
  • มุมมองของเราต่อ Monetary Policy Forum แม้ ธปท. ในงาน Monetary Policy Forum 2/2568 จะรับว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง "ทรุดโตต่ำกว่าศักยภาพ" จากภาษีสหรัฐฯ 36% และคาดการณ์ GDP ครึ่งหลังเพียง 1.6% แต่ InnovestX ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของ ธปท. ในหลายประเด็นสำคัญ เนื่องจาก ธปท. มองเศรษฐกิจในแง่ดีเกินไป โดยอาศัยตัวเลข GDP ครึ่งแรกที่โต 3% จากการ frontload ส่งออกที่ไม่ยั่งยืน ประเมินผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ ต่ำเกินไป โดยไม่ให้น้ำหนักกับปัญหา Transshipment ของจีนที่เพิ่มการนำเข้าจากจีน 40% ขณะการส่งออกจีนไปสหรัฐฯ ลด 34.4%
  • รวมทั้งอาจมองข้ามความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบลงทุนที่อยู่เพียง 35.1% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 41.7% และความไม่แน่นอนทางการเมืองจากนายกรัฐมนตรีถูกพักหน้าที่ รวมทั้งประเมินอุปสงค์ภายในประเทศผิดจากสัญญาณ 3 ประการคือ ผู้บริโภคลดใช้จ่าย ธุรกิจลดลงทุน และสถาบันการเงินระมัดระวังปล่อยสินเชื่อ ที่สำคัญ ธปท. ยืนยัน "ไทยไม่เข้าภาวะเงินฝืด" แต่เงินเฟ้อติดลบ -0.25% และคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2568-2569 อยู่ที่ 0.5%-0.8% ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 1-3% อย่างชัดเจน พร้อมสัญญาณจากพันธบัตร 3 เดือน-15 ปีที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายและเกิด Inverted Yield Curve บ่งชี้ว่าตลาดมองนโยบายการเงินตึงเกินไป เราจึงเสนอให้ ธปท. ลดดอกเบี้ยลงสู่ 1.25% หรือต่ำกว่าอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
  • ทรัมป์ใช้ประเทศที่สามปิดล้อมจีน ทรัมป์กำลังดำเนินสงครามการค้ากับจีนในรูปแบบใหม่ที่อันตรายกว่าเดิม โดยใช้กลยุทธ์บีบประเทศที่สามให้เลือกข้างระหว่างการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ หรือรักษาความสัมพันธ์กับจีน ผ่านการประกาศภาษีแบบเลือกปฏิบัติ (ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ 25%, ไทย-กัมพูชา 36%, เมียนมา-ลาว 40%) และเน้นโจมตี "Transshipment" หรือการส่งสินค้าจีนผ่านประเทศที่สาม ซึ่งหลักฐานชี้ว่าหลังจากการส่งออกจีนไปสหรัฐฯ ลดลง 34% ในพฤษภาคม เวียดนามมีการส่งออกพิเศษไปสหรัฐฯ เกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือไทย 1.8 พันล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะไทยส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่ม 42 ล้านดอลลาร์ ขณะนำเข้าจากจีนเพิ่ม 114 ล้านดอลลาร์ ทำให้เสี่ยงต่อการถูกเก็บภาษี 40% หากทรัมป์เปลี่ยนกฎจาก "substantially transformed" เป็นการกำหนดเปอร์เซ็นต์มูลค่า ขณะที่จีนขู่ใช้ "มาตรการตอบโต้เด็ดขาด" ต่อประเทศที่ทำข้อตกลงเสียหายต่อผลประโยชน์จีน ทำให้ไทยติดกับดักต้องเลือกข้าง จึงจำเป็นต้องเร่งเจรจาข้อตกลงที่ชัดเจนกับสหรัฐฯ ปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานลดการพึ่งพาจีน และหาตลาดใหม่โดยเฉพาะสหภาพยุโรปเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการถูกบีบให้เลือกข้างในสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจ
Author
Slide3
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5