Keyword
PDF Available  
Macro Making Sense

Macro Making Sense – ศก. ไทยเสี่ยงถดถอยหากสหรัฐเก็บภาษีไทยเกิน 25% ภาคเกษตรเสี่ยงสุด ภาคอุตฯ อาจได้ประโยชน์

By ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์|4 Jul 25 9:02 AM
สรุปสาระสำคัญ

สรุปผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยจากการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ จากตัวอย่างข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-เวียดนาม

  • หลังจากการประกาศ "Liberation Day" ณ วันที่ 2 เมษายน 2025 ของประธานาธิบดีทรัมป์และข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-เวียดนามที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2025 การเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไทยอาจต้องลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 0% เช่นเดียวกับเวียดนาม ภาคเกษตรและยานยนต์จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ขณะที่ผลกระทบของภาษีส่งออกสู่สหรัฐฯ จะกระทบเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
  • การวิเคราะห์ผลกระทบต่อ GDP โดย InnovestX พบว่าหากไทยเจรจาสำเร็จให้ได้ภาษีลดลงเหลือ 10% GDP จะเติบโต 1.7% ในปี 2025 (ความน่าจะเป็น 10%) แต่หากการเจรจาได้ผลบางส่วนและต้องเผชิญภาษี 15-20% GDP จะเติบโตเพียง 1.1-1.4% (ความน่าจะเป็น 60%) ส่วนในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด หากต้องเผชิญภาษี 25-37% GDP อาจหดตัวที่ -1.1% ถึง +0.5% พร้อมการส่งออกลดลงเกิน 10% (ความน่าจะเป็น 30%)
  • ทั้งนี้ เราปรับประมาณการความเป็นไปได้ของสถานการณ์เลวร้ายขึ้น เนื่องจากเรามองว่า แม้เวียดนามที่เป็นหุ้นส่วนการค้าและหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับสหรัฐ ยังถูกเก็บภาษีในอัตราสูง ฉะนั้น จึงเป็นไปได้ที่ไทยซึ่งมีระดับความสำคัญด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์กับสหรัฐน้อยกว่า อาจถูกเก็บภาษีมากกว่า
  • หากไทยต้องยกเลิกภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ภาคเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองที่จะต้องแข่งขันกับสินค้าเกษตรอเมริกันที่มีต้นทุนต่ำ ราคาข้าวโพดในประเทศคาดว่าจะลดลง 15-25% และการนำเข้าถั่วเหลืองจะเพิ่มขึ้นจาก 500,000 ตัน เป็น 1.5-2 ล้านตันต่อปี ส่วนภาคยานยนต์จะต้องปรับโครงสร้างการผลิต โดยเฉพาะในส่วนของรถยนต์ SUV ขนาดใหญ่ที่ราคาอาจลดลง 30-40%
  • ในด้านบวก ภาคอุตสาหกรรมหลายสาขาจะได้ประโยชน์จากการเข้าถึงเทคโนโลยีและวัตถุดิบจากสหรัฐฯ ในราคาที่ถูกลง ภาคพลังงานจะได้ประโยชน์จากการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านตัน เป็น 3-4 ล้านตันต่อปี ช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน ส่วนภาคเครื่องจักรจะเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยในราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิต
  • ความสำเร็จของการเจรจาขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศกับการเปิดรับโอกาสใหม่ ประสบการณ์จากเวียดนามที่ยอมรับข้อเรียกร้อง "เข้มงวด" ของสหรัฐฯ และปัญหาของไทยเรื่องความเชื่อมโยงกับจีนผ่านห่วงโซ่อุปทานแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของการเจรจา รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมมาตรการสนับสนุนที่ครอบคลุมสำหรับภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมใช้โอกาสนี้ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
Author
Slide3
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5