Keyword
PDF Available  
Macro Making Sense

Macro Making Sense – ศก. สหรัฐชะลอ แต่ Fed ยังไม่ลดดอกเบี้ย วิกฤตการเมืองไทย เส้นตายสงครามการค้าอาจเลื่อน

By ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์|30 Jun 25 8:25 AM
สรุปสาระสำคัญ

สรุปประเด็น ศก. สหรัฐชะลอ แต่ Fed ยังไม่ลดดอกเบี้ย วิกฤตการเมืองไทย เส้นตายสงครามการค้าอาจเลื่อน

  • การใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับลดในเดือนพ.ค. แรงกดดันเงินเฟ้อยังจำกัด การใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐฯ หดตัว 0.3% ในเดือนพฤษภาคม 2025 มากที่สุดในรอบปี ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE เพิ่มขึ้น 2.7% ต่อปี สูงกว่าคาด สะท้อนภาวะ Stagflation เบื้องต้นจากผลกระทบของภาษีศุลกากรที่อยู่ในระดับสูงสุดตั้งแต่ทศวรรษ 1930 ที่ 18.8% ภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นในเดือนมิถุนายน แต่เจ้าหน้าที่ Fed ส่วนใหญ่ยังระมัดระวังในการลดอัตราดอกเบี้ย โดยรอดูผลกระทบของภาษีศุลกากรต่อเงินเฟ้อในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ก่อนจะพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วสุดในเดือนกันยายน หากเงินเฟ้อไม่เร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
  • เรามองว่าแม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอแก้ไขปัญหาพื้นฐานของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจท่ามกลางเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยเราคาดว่าเงินเฟ้อ CPI จะเพิ่มขึ้นจาก 2.4% ปัจจุบันสู่ 3.6% ในช่วงสิ้นปี และธุรกิจอาจต้องเผชิญแรงกดดันในการขึ้นราคาซึ่งอาจนำไปสู่การบริโภคที่ชะลอตัวลงและการปลดพนักงานในที่สุด ทั้งนี้ เราจะติดตามดัชนี CB Leading Economic Indicators และข้อมูลการใช้จ่ายผู้บริโภคในช่วงฤดูร้อนอย่างใกล้ชิด
  • วิกฤตการเมืองไทยและเสถียรภาพเศรษฐกิจ วิกฤตคลิปเสียงของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร กับอดีตผู้นำกัมพูชา ฮุน เซน ได้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการประชุมเร็วขึ้นเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม เพื่อพิจารณาคำร้องถอดถอนตามมาตรา 170 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะอ่อนแอได้รับผลกระทบหนัก โดยดัชนี SET ดิ่งลงสู่จุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี ปรับตัวลง 21% จนกลายเป็นตลาดหุ้นที่แย่ที่สุดในโลก ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องและนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไปแล้วกว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ ประกอบกับการประท้วงที่เริ่มขึ้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  • เรามองว่าวิกฤตครั้งนี้จะสร้างความท้าทายอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทยอาจถูกบีบให้เร่งผ่อนคลายนโยบายการเงินจากดอกเบี้ยปัจจุบัน 1.75% ลงอีก 50-75 basis points เร็วกว่าแผนเดิม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
  • ขณะที่ความท้าทายจากภาษีสหรัฐฯ 36% ที่คุกคามสินค้าส่งออกไทยจะยิ่งซับซ้อนขึ้น เนื่องจากการเจรจาทางการทูตอาจหยุดชะงักหากเกิดสุญญากาศทางการเมือง การประชุมศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 1 ก.ค. จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยเราวิเคราะห์ผลกระทบต่อ GDP อาจอยู่ในช่วง -0.3% ถึง -0.5% ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเราจะติดตามการตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญ ผลของการชุมนุม และจุดยืนของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างใกล้ชิด
  • พัฒนาการล่าสุดสงครามการค้า ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศยุติการเจรจาการค้าทั้งหมดกับแคนาดาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน เพื่อตอบโต้ภาษีบริการดิจิทัล 3% และขู่จะประกาศอัตราภาษีใหม่ภายใน 7 วัน ขณะเดียวกันรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ Howard Lutnick ยืนยันการลงนามข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีนแล้ว โดยจีนจะส่งมอบแร่หายากแลกกับการยกเลิกมาตรการตอบโต้ของสหรัฐฯ และเตรียมทำข้อตกลงกับคู่ค้าหลัก 10 ประเทศภายใน 2 สัปดาห์ สำหรับไทย รองนายกฯ พิชัย ชุณหวชิร จะเดินทางไปเจรจาสัปดาห์หน้า หลังสหรัฐฯ เสนอลดภาษีจาก 36% เหลือ 18% แต่ไทยต้องการเจรจาลงเหลือ 10% สหภาพยุโรปแสดงความมั่นใจว่าจะบรรลุข้อตกลงก่อนเส้นตาย 9 กรกฎาคม แต่รัฐมนตรีคลัง Scott Bessent ส่งสัญญาณเลื่อนการเจรจาออกไปจนถึงต้นกันยายน
  • เรามองว่าการเปลี่ยนแปลงกรอบเวลาจากเส้นตาย 9 กรกฎาคมเป็นต้นกันยายนอาจเป็นสัญญาณดีสำหรับประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ในการมีเวลาเจรจาเพิ่มเติม แต่กรณีการยุติการเจรจากับแคนาดาแสดงให้เห็นว่าทรัมป์ยังคงใช้ภาษีเป็นเครื่องมือกดดันทางการเมืองอย่างรุนแรง ซึ่งเพิ่มความไม่แน่นอนในตลาดโลก แม้ตลาดจะตอบสนองเชิงบวกต่อข่าวความคืบหน้าในการเจรจา แต่ความซับซ้อนของการหาข้อตกลงที่เป็นที่ยอมรับได้สำหรับทุกฝ่ายยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อสหภาพยุโรปเตรียมมาตรการตอบโต้มูลค่ากว่า 1.16 แสนล้านยูโรหากการเจรจาล้มเหลว
Author
Slide3
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5