ลงทุนก้าวแรก

อยากสร้างกำไรจากการได้หุ้นราคาถูก ค่า P/E คือคำตอบ

24 Apr 25 1:57 PM
ค่า P/E คือตัวแปรสำคัญที่ต้องพิจารณาในการเลือกลงทุนหุ้น
สรุปสาระสำคัญ

อยากลงทุนในหุ้นให้ได้กำไรและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต้นทุนสำคัญคือราคาหุ้นที่ซื้อมา ยิ่งซื้อหุ้นมาราคาถูกเท่าไร โอกาสที่คุณจะได้กำไรจากการลงทุนในหุ้นตัวนั้น ๆ ก็มากขึ้นตามไปด้วย แต่นอกจากเทรนด์ เศรษฐกิจ และความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมแล้ว ตัวชี้วัดอีกหนึ่งตัวที่จะบอกได้ว่าหุ้นตัวนั้นถูกหรือแพง คือค่า P/E หรือ Price to Earnings Ratio นั่นเอง

หน้าจอแสดงผลค่า P/E คือค่าที่ใช้เปรียบเทียบราคาหุ้นกับกำไรของบริษัท

  

ค่า P/E คืออะไร ?

ค่า P/E ย่อมาจาก Price-to-Earnings Ratio คืออัตราส่วนที่ใช้เปรียบเทียบราคาหุ้นกับกำไรต่อหุ้นของบริษัท (Earnings per Share: EPS) เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญที่นักลงทุนใช้ในการประเมินมูลค่าของหุ้น สะท้อนให้เห็นว่าหุ้นตัวนั้นมีราคาถูกหรือแพงเมื่อเทียบกับกำไรที่บริษัทสร้างขึ้น แล้วนักลงทุนจะยอมจ่ายเงินกี่บาทต่อกำไร 1 บาทของบริษัท ช่วยให้นักลงทุนเข้าใจว่าหุ้นมีราคาสูงหรือต่ำเมื่อเทียบกับผลประกอบการของบริษัทเอง หรือเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน

  

การหาค่า P/E คือวิธีคำนวณที่สามารถใช้ได้กับบริษัทที่มีกำไรเท่านั้น หากบริษัทไม่มีผลกำไร หรือมีกำไรติดลบ ค่า P/E จะไม่สามารถคำนวณได้ และแสดงค่าเป็น N/A หรือ Not Applicable

  

ค่า P/E สูงและต่ำบอกอะไรบ้าง ?

 

  • ค่า P/E สูง บ่งชี้ว่าหุ้นมีราคาแพงเมื่อเทียบกับกำไรที่ได้รับ แต่สะท้อนถึงความคาดหวังของนักลงทุนเกี่ยวกับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่ม Growth Stock ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง อย่างไรก็ตาม หุ้นเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากหากการเติบโตไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ราคาหุ้นอาจปรับลงอย่างรวดเร็วได้
  • ค่า P/E ต่ำ บ่งบอกว่าหุ้นมีราคาถูกเมื่อเทียบกับกำไร สะท้อนว่าบริษัทอาจมีปัญหาทางธุรกิจ หรืออยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโตช้า ส่งผลให้รายได้ชะลอตัว นับเป็นหุ้นที่ไม่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน และมีความเสี่ยงที่ราคาจะปรับตัวลงอีกในอนาคต

  

ทั้งนี้ ควรเปรียบเทียบ P/E กับหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้น และพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วยเพื่อการวิเคราะห์ที่แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะกล่าวถึงกันในลำดับถัดไป

  

ประเภทของค่า P/E ที่นักลงทุนควรรู้จัก

ค่า P/E แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ตามวิธีการคำนวณและการใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ ซึ่งนักลงทุนควรเข้าใจทุกประเภท เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการวิเคราะห์หุ้นแต่ละตัว ดังนี้

  

  • ค่า Trailing P/E คือค่า P/E ที่คำนวณจากกำไรต่อหุ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เป็นค่า P/E ที่ถูกใช้งานมากที่สุด มีความแม่นยำสูง เพราะอ้างอิงจากข้อมูลทางบัญชีที่เกิดขึ้นจริง สะท้อนภาพรวมของธุรกิจได้ชัดเจน จึงเหมาะกับการเปรียบเทียบหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกัน
  • ค่า Forward P/E คือค่าที่คำนวณจากกำไรที่คาดการณ์ในอนาคต อ้างอิงจากการประเมินของนักวิเคราะห์หรือบริษัทเอง สะท้อนมูลค่าหุ้นตามการเติบโตของกำไรในอนาคต นิยมใช้วิเคราะห์หุ้นเติบโตสูง (Growth Stocks) ที่มีกำไรขยายตัวต่อเนื่อง
  • ค่า Relative P/E เป็นค่าที่ใช้เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาด อุตสาหกรรม หรือค่ามาตรฐานของหุ้นตัวเดียวกันในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง บ่งชี้ว่าหุ้นมีมูลค่าสูงหรือต่ำเมื่อเทียบกับแนวโน้มตลาดโดยรวม แต่อาจไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น

  

ความแตกต่างระหว่าง Trailing P/E กับ Forward P/E 12 Months

Trailing P/E และ Forward P/E 12 Months ต่างกันที่วิธีคำนวณและการนำไปใช้ โดย Trailing P/E คำนวณจากกำไรต่อหุ้นย้อนหลัง 12 เดือน อ้างอิงจากผลประกอบการที่เกิดขึ้นจริง จึงมีความแม่นยำสูงและใช้เปรียบเทียบกับหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ดี ขณะที่ Forward P/E 12 Months ใช้ EPS ที่คาดการณ์ในอนาคต 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งช่วยให้นักลงทุนประเมินศักยภาพการเติบโตของบริษัทได้ล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม Forward P/E อาจมีความคลาดเคลื่อนหากกำไรจริงไม่เป็นไปตามคาด ดังนั้น นักลงทุนจึงควรใช้ทั้งสองตัวชี้วัดร่วมกันเพื่อให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้นในการประเมินมูลค่าหุ้น

  

ความสำคัญของค่า P/E

นอกจากความหมายของค่า P/E คืออะไรแล้ว อีกประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต้องเข้าใจ คือความสำคัญของค่า P/E ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ข้อหลัก ได้แก่

 

  • ช่วยให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบมูลค่าหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมมีโครงสร้างด้านต้นทุน กำไร และแนวโน้มการเติบโตที่แตกต่างกัน
  • เป็นตัวชี้วัดที่ช่วยให้เห็นว่าราคาหุ้นสะท้อนผลกำไรของบริษัทอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ โดยเป็นการเปรียบเทียบระหว่างราคาหุ้นกับกำไรต่อหุ้นโดยตรง
  • เป็นตัวชี้วัดแนวโน้มการเติบโตของบริษัท หากค่า P/E สูง ถือว่าบริษัทมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต เนื่องจากนักลงทุนมีความคาดหวังว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ การเติบโตของอุตสาหกรรม

  

นักลงทุนกำลังคำนวณค่า P/E หุ้นก่อนตัดสินใจเทรดหุ้นออนไลน์

  

วิธีคำนวณค่า P/E ด้วยตัวเอง

สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าค่า P/E ดูอย่างไร และมีวิธีการคำนวณแบบไหนบ้าง เบื้องต้น คุณสามารถคำนวณด้วยตนเองง่าย ๆ โดยใช้สูตรนี้

 

ราคาหุ้นปัจจุบัน ÷ กำไรต่อหุ้น = ค่า P/E

  

เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น เราจะคำนวณค่า Trailing P/E และค่า Forward P/E ให้ดูเป็นตัวอย่าง โดยอ้างอิงจากบริษัท A ที่มีราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ที่ 100 บาทต่อหุ้น

  

ค่า Trailing P/E

บริษัท A มีกำไรต่อหุ้นย้อนหลัง 12 เดือนอยู่ที่หุ้นละ 5 บาท สามารถคำนวณได้ว่า

  

100 ÷ 5 = 20

  

หมายความว่าบริษัท A มีค่า Trailing P/E ที่ 20 เท่า ทำให้นักลงทุนต้องจ่าย 20 บาท เพื่อให้ได้กำไร 1 บาท ของบริษัท

  

ค่า Forward P/E

  

หากนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในปีหน้า กำไรต่อหุ้นของบริษัท A จะเพิ่มขึ้นเป็น 7 บาท สามารถคำนวณได้ว่า

  

100 ÷ 7 = 14.29

  

แสดงว่าค่า Forward P/E จะลดลงเป็น 14.29 เท่า จึงสามารถอนุมานได้ว่าบริษัทจะทำกำไรได้มากขึ้นในอนาคต ทำให้ราคาหุ้นดูมีความคุ้มค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับกำไร

  

การใช้ประโยชน์จากค่า P/E ในการลงทุน

รู้และเข้าใจแล้วว่าค่า P/E คืออะไร มีวิธีการคำนวณอย่างไร สุดท้าย ก็มาถึงการนำค่า P/E เพื่อใช้ในการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการเทรดหุ้นออนไลน์หรือออฟไลน์ โดยมีแนวทางง่าย ๆ ดังนี้

  

1. การหาค่า P/E ที่เหมาะสมก่อนเข้าซื้อหุ้น

นักลงทุนสามารถใช้ค่า P/E เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมหรือค่า P/E ในอดีตของหุ้นตัวนั้น เพื่อประกอบการวิเคราะห์และประเมินว่าหุ้นมีราคาสูงหรือต่ำเกินไปก่อนตัดสินใจลงทุนได้

  

2. การหาราคาเป้าหมายด้วยค่า P/E

การใช้ค่า P/E คำนวณราคาเป้าหมายของหุ้นทำได้โดยนำกำไรต่อหุ้นที่คาดการณ์ (Forward EPS) มาคูณกับค่า P/E ที่เหมาะสม เพื่อคาดการณ์ราคาหุ้นที่ควรเป็นในอนาคต

  

3. ใช้วางกลยุทธ์ในการลงทุนในหุ้นวัฏจักร

หุ้นวัฏจักรมักมีค่า P/E ต่ำในช่วงขาขึ้นเพราะกำไรสูง และค่า P/E สูงในช่วงขาลงเนื่องจากกำไรลดลง นักลงทุนจึงต้องพิจารณาวัฏจักรเศรษฐกิจและแนวโน้มอุตสาหกรรมร่วมด้วย

  

4. ใช้คำนวณร่วมกับตัวชี้วัดอื่นเพื่อวิเคราะห์ราคาหุ้นอย่างรอบด้าน

ค่า P/E คือค่าที่ควรใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น เช่น P/B (Price-to-Book), ROE (Return on Equity), Growth Rate และ Dividend Yield เพื่อให้เห็นภาพรวมของมูลค่าหุ้นและแนวโน้มการเติบโตที่แท้จริง ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจเทรดหุ้น

  

วางแผนเทรดหุ้นออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะทำความเข้าใจกับค่า P/E เพื่อวิเคราะห์มูลค่าก่อนซื้อหุ้นแล้ว อย่าลืมเลือกลงทุนในแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์รอบด้านอย่าง InnovestX สามารถดาวน์โหลดแอป InnovestX และสมัครสมาชิกได้ฟรี ทั้ง App Store, Google Play Store และ Huawei Gallery เพื่อเริ่มลงทุนได้แล้ววันนี้

  

มีให้ลงทุนครบทุกสินทรัพย์ ทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศจากทั่วโลกถึง 23 ประเทศ 31 ตลาด และกองทุนรวมกว่า 2,000 กองทุน จาก 21 บลจ. กำเนิดจักรวาลใหม่แห่งการลงทุน กับ InnovestX บริษัทหลักทรัพย์ในกลุ่ม SCBX ที่มีครบทุกเรื่อง ทั้งเครื่องมือและข้อมูลเพื่อคว้าทุกโอกาสการลงทุนทั่วโลก

  

คำเตือน

*การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยตรงมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

  

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. Price-to-Earnings (P/E) Ratio: Definition, Formula, and Examples. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 จาก https://www.investopedia.com/terms/p/price-earningsratio.asp
  2. 5 เรื่องควรรู้ เมื่อเลือกหุ้นด้วย P/E Ratio. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 จาก https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/456-tsi-5-key-factors-pe-ratio-stock-selection
Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5