ดีลการค้าสหรัฐ-เวียดนาม: จากภาษี 46% สู่ 20% ใกล้เคียงที่ตลาดคาด แต่ยังต้องติดตามตัวเลขภาษีสุดท้ายจากประเทศคู่แข่ง
by INVX Investment Strategy
3 ก.ค. 68
สรุปสถานการณ์
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศข้อตกลงการค้าใหม่กับเวียดนาม โดยกำหนดภาษีนำเข้า 20% สำหรับสินค้าเวียดนามส่งออกไปสหรัฐฯ ภาษี 40% สำหรับสินค้าที่มีการขนส่งผ่านโดยเฉพาะจากจีน และภาษี 0% สำหรับสินค้าสหรัฐฯ ส่งเข้าเวียดนาม
ภาพรวม: ใกล้เคียงที่ตลาดคาด
เราประเมินว่าข้อตกลงนี้ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด โดยในภาพรวมถือว่าไม่แย่นัก (แต่ก็ไม่ได้ดีนัก) เพราะช่วยหลีกเลี่ยงสถานการณ์เลวร้ายสุดที่ทรัมป์เคยขู่จะขึ้นภาษี 46% การลดลงเหลือ 20% ถือเป็นการบรรเทาผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งให้กรอบความชัดเจนที่ช่วยลดความเสี่ยงจากนโยบายที่ไม่คาดเดาได้ ทำให้เวียดนามยังคงรักษาสถานะเป็น Supply Chain Hub สำคัญสำหรับบริษัทที่ต้องการย้ายฐานการผลิตจากจีน
อย่างไรก๊ดี ในระยะสั้น เบื้องต้นคาดว่าจะกระทบ GDP ประมาณ 2-4% (แทนที่จะเป็น 6-8% ในกรณีโดนภาษี 46%) เนื่องจากเวียดนามพึ่งพาส่งออก 90% ของ GDP โดยมีสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 สัดส่วนสูงราว 30% แม้ต้นทุนการส่งออกจะสูงขึ้นและผลกำไรของบริษัทส่งออกจะลดลงบ้าง แต่ยังสามารถปรับตัวได้ ซึ่งในระยะยาวบริษัทต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและกลยุทธ์เพื่อรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันตลาดภายในจะเผชิญการแข่งขันมากขึ้นจากสินค้าอเมริกันที่ได้รับสิทธิพิเศษ
ผลกระทบต่อตลาดหุ้น
เราประเมินว่าแนวโน้มดัชนี VN-Index ในระยะสั้นจะไม่ได้ตอบสนองเชิงบวกมากนัก เนื่องจากเป็นภาษีที่สูงขึ้นจากฐานเดิมอย่างมีนัยยะ แม้ว่าจะลดลงจาก 46% จากตัวเลขภาษีตอบโต้ก่อนหน้านี้ แต่ในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของภาคเอกชนในเวียดนาม รวมถึงตัวเลขภาษีสุดท้ายที่จะเรียกเก็บต่อประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งเวียดนาม เช่นในอาเซียน
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่ม Logistics และ Industrial Park ยังคงได้อานิสงส์จาก FDI ที่ไหลเข้า ในขณะที่หุ้น Domestic Demand อย่างธนาคารและค้าปลีกได้รับแรงหนุนทางจิตวิทยา เนื่องจากเงินทุนต่างชาติยังคงลงทุนต่อ อย่างไรก็ตาม หุ้นส่งออกในกลุ่มสิ่งทอ รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ และอิเล็กทรอนิกส์จะผันผวนตามรายละเอียดการบังคับใช้
ประเด็นที่ต้องติดตาม
รายละเอียดการบังคับใช้เป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะมาตรการตรวจสอบ Transshipment จะเข้มงวดเพียงใดและระบบติดตามสินค้าจีนที่แฝงตัวในสายการผลิต นอกจากนี้ต้องติดตามการตอบสนองของคู่แข่ง โดยเฉพาะข้อตกลงที่ไทยและประเทศอาเซียนอื่นจะได้รับ รวมถึงการปรับกลยุทธ์ของบริษัทจีนในการใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิต และปฏิกิริยาของตลาดโลกต่อการเปลี่ยนแปลง Supply Chain ในระดับภูมิภาคและการไหลของเงินทุนต่างชาติในตลาดเกิดใหม่
บทสรุป
ข้อตกลงสหรัฐ-เวียดนามนี้แม้จะเพิ่มภาระภาษีให้บริษัทส่งออก แต่ถือเป็นการเลือกผลร้ายที่น้อยกว่าที่ช่วยรักษาการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ได้ต่อไป สำหรับนักลงทุน ควรใช้กลยุทธ์ wait-and-see เพื่อรอดูรายละเอียดการบังคับใช้และข้อตกลงกับประเทศอื่น ขณะเดียวกันอาจใช้โอกาสในการปรับฐานของตลาด (หากมี) เพื่อสะสมหุ้นคุณภาพในเซกเตอร์ที่มีศักยภาพในยุคการค้าใหม่ หรือผ่านกองทุน PRINCIPAL VNEQ-A ที่ลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม และติดตามข่าวการเจรจาของไทยกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากผลลัพธ์จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคโดยรวม