1. ตลาดหุ้นผันผวนหนักก่อนทรัมป์ประกาศภาษี 2 เม.ย.
2. ทรัมป์เตรียมเปิดตัวมาตรการภาษีตอบโต้ 2 เม.ย.นี้
3. สหรัฐฯ กดดันรัสเซีย-ยูเครนให้หยุดยิง ขู่ขึ้นภาษีน้ำมันรัสเซีย-เวเนซุเอลา
4. ภาคธุรกิจญี่ปุ่นยังแกร่ง หนุน BOJ เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
5. นักวิเคราะห์คาด จีนจ่ออัดฉีดเศรษฐกิจ รับมือภาษีสหรัฐฯ และปัญหาสภาพคล่อง
1. ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนหนักก่อนการประกาศมาตรการภาษีใหม่ของทรัมป์ในวันที่ 2 เม.ย. แม้เมื่อวาน S&P 500 ปิดบวก 0.55% แต่ยังเผชิญไตรมาสที่แย่ที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ นับตั้งแต่ปี 2009 นักลงทุนกังวลท่ามกลางความไม่แน่นอนว่าอัตราภาษีจะสูงเพียงใด และจะครอบคลุมกลุ่มใดบ้าง ขณะที่ Goldman Sachs และ Yardeni ปรับลดเป้าหมายดัชนีลงจากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย และนักวิเคราะห์ชี้ว่าสถานการณ์อาจลากยาว
2. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมประกาศมาตรการ “ภาษีตอบโต้” กับทุกประเทศในวันที่ 2 เม.ย. ที่สวนโรสการ์เดน ทำเนียบขาว โดยจะเก็บภาษีในอัตราเดียวกับที่แต่ละประเทศเรียกเก็บจากสินค้าอเมริกัน แม้จะยังไม่เปิดเผยรายชื่อประเทศหรืออัตราภาษี แต่มีการส่งสัญญาณว่าอียู ญี่ปุ่น อินเดีย และแคนาดาน่าจะเป็นเป้าหมายหลัก มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปการค้าและหาแหล่งรายได้เพิ่มเพื่อสนับสนุนมาตรการลดภาษีในประเทศ
3. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความไม่พอใจต่อปูตินที่ไม่เร่งเจรจาหยุดยิงกับยูเครน พร้อมขู่ขึ้นภาษีกับผู้ซื้อพลังงานจากรัสเซียหากยังไม่ยอมหยุดสงคราม ขณะที่ทรัมป์ยังคงกดดันให้ยูเครนทำข้อตกลงเปิดทางให้สหรัฐฯ เข้าถึงแร่หายาก พร้อมขู่ใช้มาตรการลงโทษหากยูเครนถอนตัวจากดีล ล่าสุดยังขยายคำขู่ไปยังอิหร่านและเวเนซุเอลา โดยเตรียมใช้ภาษีลงโทษประเทศที่ซื้อพลังงานจากสองชาติผู้ผลิตน้ำมันเหล่านี้ด้วย
4. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นยังอยู่ในแดนบวก แม้ลดลงเล็กน้อย ขณะที่ภาคบริการปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1991 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังมีแรงส่งพอให้ BOJ เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า BOJ อาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วสุดเดือนพ.ค. ขณะเดียวกันภาวะตลาดแรงงานยังตึงตัว และเงินเฟ้อคาดการณ์ยังสูง ส่งสัญญาณว่ารอบการขึ้นดอกเบี้ยยังไม่จบ แม้ภายนอกยังเผชิญความเสี่ยงจากภาษีของสหรัฐฯ ก็ตาม
5. นักวิเคราะห์คาดว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจลดสัดส่วนกันสำรองของธนาคาร (RRR) ในไตรมาส 2 เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องที่ตึงตัวและรับมือความเสี่ยงจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่จะมีผลในวันที่ 2 เม.ย. การปรับลด RRR อาจปล่อยสภาพคล่องหลายแสนล้านหยวนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ถือเป็นสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินที่สำคัญในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ประเด็นที่ต้องติดตาม: Caixin Manufacturing PMI ของจีน เดือน มี.ค. คาดว่าจะรายงานออกมาที่ 51 จากช่วงก่อนหน้าที่ 50.8, Inflation Rate YoY Flash ของยุโรป เดือน มี.ค. คาดว่าจะรายงานออกมาที่ 2.1% จากช่วงก่อนหน้าที่ 2.3, ISM Manufacturing PMI ของสหรัฐฯ เดือน มี.ค. คาดว่าจะรายงานออกมาที่ 50 จากช่วงก่อนหน้าที่ 50.3 และ JOLTs Job Openings ของสหรัฐฯ เดือนก.พ. คาดว่าจะรายงานออกมาที่ 7.6M จากช่วงก่อนหน้าที่ 7.74M