ETF

รู้จัก Leveraged และ Inverse ETFs คืออะไร?

11 Mar 25 11:58 AM
Leverage ETF และ Inverse ETF คืออะไร?
สรุปสาระสำคัญ

บทความนี้จะมาอธิบายถึงรายละเอียดของ Leveraged และ Inverse ETFS (L&I ETFs) ว่ามีหลักการอย่างไร และประเภทไหนที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต.

 

เนื่องจาก Leveraged และ Inverse ETFS มีความเสี่ยงและความซับซ้อนแตกต่างจาก ETF ที่ลงทุนตามดัชนีอ้างอิงปกติ ซึ่งมักมีการใช้ตราสารอนุพันธ์ในการจัดการลงทุน เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนในแต่ละวันได้ตามเป้าหมายที่กำหนด (เช่น 2X -1X -2X) จึงทำให้ผลตอบแทนที่คำนวณจากการถือต่อเนื่องหลายวันแตกต่างจากการคำนวณการเปลี่ยนแปลงของดัชนีปกติด้วยผลของการคำนวณผลตอบแทนทบต้นรายวันดังกล่าว (Compounding effect)

Leveraged และ Inverse ETFs คืออะไร?


เริ่มจาก ETF คืออะไร? 

 

ETF หรือ กองทุนรวม ETF (Exchange Traded Fund) คือ กองทุนรวมประเภทหนึ่งที่มีการกระจายการลงทุนเสมือนกองทุนรวมที่อ้างอิงกับดัชนีหรือตามนโยบายที่ผู้ออกกำหนด โดยที่ทั่วไปแล้วผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า (เนื่องจาก ETF มักมีค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนถูกกว่ากองทุนรวมทั่วไป) และสามารถซื้อขายด้วยราคาปัจจุบัน (Real time) ได้ในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้สามารถซื้อขายได้สะดวก ปรับกลยุทธ์การลงทุนได้ง่าย และตอบโจทย์ในเรื่องกระจายความเสี่ยง จึงตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนในยุคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  


อย่างไรก็ดี ETF ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้นอาจยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ต่างกับ ETF ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยเฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ลงทุนมักใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่ต้องการได้ง่ายและสะดวก เพราะมีความหลากหลายในการลงทุน อีกทั้ง มีสภาพคล่องหรือปริมาณการซื้อขายสูง โดยอาจแบ่งประเภทของ ETF ได้ตามหัวข้อดังนี้ 


1. ประเภทสินทรัพย์อ้างอิง เช่น หุ้น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ ค่าเงิน สินค้าโภคภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น 
2. รูปแบบนโยบายการลงทุน เช่น แบบ passive อิงดัชนี หรือ active ตามปัจจัยที่ผู้ออก ETF กำหนด เช่น factor based and smart beta ETF หรืออิงความผันผวน (Volatility) ของตลาด, หุ้น High Beta, Low Carbon, Moat เป็นต้น
3. ธีมการลงทุน เช่น หุ้นเทคโนโลยี, AI, สินค้าอุปโภคบริโภค, พลังงานสะอาด, ESG, รถยนต์ EV เป็นต้น
4. ภูมิภาคหรือประเทศต่างๆ เช่น หุ้นโลก กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ละตินอเมริกา ประเทศกรีซ ญี่ปุ่น เป็นต้น 
5. ทิศทางและความเสี่ยงในการลงทุน เช่น leveraged ETF ที่ขึ้นลงมากกว่าดัชนีอ้างอิงเป็นทวีคูณ (2x หรือ 3x เท่า หรือมากกว่า) หรือ inverse ETF ที่เคลื่อนไหวสวนทางกับดัชนีอ้างอิง โดยที่มีให้เลือกแบบทวีคูณด้วย (-2x หรือ -3x) เป็นต้น



Leveraged และ Inverse ETFs น่าสนใจอย่างไร? 


Leveraged และ Inverse ETFs มีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการ (AUM) เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดสูงถึง 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2568) โดยที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ สัดส่วนถึง 71% ขณะที่ในเอเชีย ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และฮ่องกง เป็นตลาดหุ้นที่มี Leveraged และ Inverse ETFs จดทะเบียนมากที่สุดตามลำดับ สะท้อนถึงความสนใจของผู้ลงทุนทั่วโลกที่ใช้ กองทุนนี้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มผลตอบแทนและบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ทั้งนี้ Leveraged ETF เป็นเครื่องมือที่มีนักลงทุนสนใจเป็นสัดส่วนสูงที่สุด โดยมีสัดส่วน AUM สูงถึง 88% ของกองทุนประเภทนี้ทั้งหมด ตามมาด้วย Leveraged Inverse 7% และ Inverse 5% ตามลำดับ
 

มูลค่ากองทุน-Leverage-และ-Inverse-ETF-ในโลก.png
ที่มา: Nasdaq Global Indexes, Morningstar

 


 ความหมายของ Leveraged และ Inverse ETFs


Leveraged ETF เป็น ETF ที่มีกลยุทธ์การบริหารจัดการที่มุ่งหวังผลตอบแทนแบบเร่ง หรือทวีคูณจากผลตอบแทนรายวันของดัชนีอ้างอิง หรือคิดง่ายๆ ว่าถ้าดัชนีอ้างอิงขึ้น Leveraged ETF จะขึ้นมากกว่า ในขณะที่หากดัชนีอ้างอิงลง Leveraged ETF ก็จะลงมากกว่า ทำให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึงใจผู้ลงทุนที่รักความเสี่ยงสูงได้เต็มที่


ส่วน Inverse ETF เป็น ETF ที่มุ่งหวังผลตอบแทนสวนทาง หรือตรงข้ามกับผลตอบแทนรายวันของดัชนีอ้างอิง กล่าวคือ หากดัชนีอ้างอิงขึ้น ราคาของ Inverse ETF จะลง ในขณะที่หากดัชนีอ้างอิงลง ราคาของ Inverse ETF จะขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังมี Inverse ETF ประเภทที่สามารถมีกลยุทธ์ที่มุ่งหวังผลตอบแทนตรงกันข้ามแบบทวีคูณได้ด้วย กล่าวคือ หากดัชนีอ้างอิงขึ้น ราคาของ Inverse ETF จะลงมากกว่าเป็นทวีคูณของราคาดัชนีอ้างอิงที่ขึ้น ในขณะที่หากดัชนีอ้างอิงลง ราคาของ Inverse ETF จะขึ้นมากกว่าเป็นทวีคูณของราคาดัชนีอ้างอิงที่ลง


 ทั้งนี้ ผู้ออก Leveraged และ Inverse ETFs ส่วนใหญ่มักใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เช่น ฟิวเจอร์ส (Futures) หรือสวอป (Swap) ในการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามที่ระบุไว้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากการคำนวณผลตอบแทนของการลงทุนเป็นแบบทบต้น การที่ผู้ลงทุนถือกองทุนประเภทนี้มากกว่าหนึ่งวัน อาจได้รับผลตอบแทนที่แตกต่างจากผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิงที่คาดว่าจะได้รับ เนื่องจากมี Leveraged และ Inverse ETFs จะมีกลไกสำคัญคือ การปรับการคำนวณอัตราผลตอบแทนตั้งต้นใหม่ทุกวัน (Daily reset) โดยที่จะได้ยกตัวอย่างในหัวข้อ ตัวอย่างและการคำนวณผลตอบแทน ในลำดับต่อไป


 นอกจากนี้ เป็นที่น่าสนใจว่า Leveraged และ Inverse ETFs ที่มี AUM สูงที่สุด 10 อันดับแรกของโลก จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ดังตารางด้านล่าง) โดยกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอ้างอิงกับผลตอบแทนของดัชนี Nasdaq100 แบบ 3 เท่า อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. อนุญาตให้ผู้ลงทุนไทยสามารถลงทุนใน Leveraged และ Inverse ETFs ได้สูงสุด 2 เท่า เท่านั้น 

 

 

ประโยชน์ของ Leveraged และ Inverse ETFs

  • ผู้ลงทุนสามารถเลือกใช้กองทุนประเภทนี้สร้างผลตอบแทนได้ทั้งในสภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง
  • มีหลากหลายสินทรัพย์อ้างอิง ให้ผู้ลงทุนเลือกใช้ในการเก็งกำไร
  • ผู้ลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนแบบทวีคูณได้โดยไม่ต้องวางหลักประกันเพิ่มเติม
  • ผู้ลงทุนสามารถใช้ Inverse ETF บริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้ เช่น ใช้บริหารพอร์ตในช่วงตลาดขาลง เป็นต้น


ความเสี่ยงและข้อจำกัดของ Leveraged และ Inverse ETFs

  • ผู้ลงทุนอาจขาดทุนได้มากกว่าการลงทุนใน ETFs ทั่วไปหากไม่มีการกำหนดจุด stop loss ที่ดี
  • ค่าธรรมเนียมการจัดการสูงกว่า ETFs ปกติทั่วไป
  • หากผู้ลงทุนถือลงทุน Leveraged และ Inverse ETFs มากกว่า 1 วัน จะมีความเสี่ยงที่ผลตอบแทนจะแตกต่างจากผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับของดัชนีอ้างอิง โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดผันผวนสูง ผลตอบแทนมักจะแย่กว่าผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับของดัชนีอ้างอิง (ตามตัวอย่างในหัวข้อข้อสังเกตสำคัญของการลงทุน) จึงอาจไม่เหมาะกับการถือลงทุนระยะยาว
  • ผู้ลงทุนควรติดตามข้อมูลจากผู้ออกกองทุนประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีโอกาสที่ผู้ออกอาจเปลี่ยนวิธีคำนวณหรือข้อมูลอื่นๆ ได้มากกว่า ETFs ปกติทั่วไป


 ตัวอย่าง L&I ETFs และการคำนวณผลตอบแทน
 

ผลตอบแทนของ L&I ETFs มีทั้งแบบทวีคูณและตรงกันข้ามกับผลตอบแทนรายวันของดัชนีอ้างอิง ดังรูปและตารางด้านล่าง ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาความเสี่ยงและการเคลื่อนไหวของ L&I ETFs อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน
 

กลไกล-Leveraged-และ-Inverse-ETFs.png
ที่มา: สำนักงาน ก.ล.ต.

 

รู้จัก-Leveraged-และ-Inverse-ETFs-คืออะไร.png

ที่มา: Nasdaq

 


 ข้อสังเกตสำคัญของการลงทุนใน Leveraged และ Inverse ETFs


 ในกรณีที่ผู้ลงทุนถือลงทุน Leveraged และ Inverse ETFs มากกว่า 1 วัน ผลตอบแทนจะแตกต่างจากผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับของดัชนีอ้างอิง เนื่องจากกองทุนประเภทนี้จะมีกลไกสำคัญคือ การปรับการคำนวณอัตราผลตอบแทนตั้งต้นใหม่ทุกวัน (Daily reset) ซึ่งจะทำให้การลงทุนมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าการลงทุนใน ETF ปกติทั่วไป โดยมีรายละเอียดในแต่ละกรณีต่อไปนี้


1. หากตลาดมีทิศทางชัดเจน (ขึ้นหรือลงต่อเนื่อง) ผลตอบแทนของ Leveraged และ Inverse ETFs มักจะดีกว่าผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้รับของดัชนีอ้างอิง ดังตัวอย่างใน Scenario 1 และ 2 ด้านล่าง (ตามเส้นกราฟสีแดง เทียบกับเส้นประสีฟ้าอ่อน)
 

หากตลาดมีทิศทางชัดเจน-ขึ้นหรือลงต่อเนื่อง-ผลตอบแทนของ-Leverage-และ-Inverse-ETF-มักจะดีกว่าผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้รับของดัชนีอ้างอิง.png

หากตลาดมีทิศทางชัดเจน-ขึ้นหรือลงต่อเนื่อง-ผลตอบแทนของ-Leverage-และ-Inverse-ETF-มักจะดีกว่าผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้รับของดัชนีอ้างอิง2.png
ที่มา: Nasdaq


2. หากตลาดผันผวนไร้ทิศทางชัดเจน - ผลตอบแทนของ Leveraged และ Inverse ETFs  มักจะแย่กว่าผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้รับของดัชนีอ้างอิง ดังตัวอย่างใน Scenario 3 ด้านล่าง (ตามเส้นกราฟสีแดง เทียบกับเส้นประสีฟ้าอ่อน)
 

หากตลาดผันผวนไร้ทิศทางชัดเจน---ผลตอบแทนของ-Leverage-และ-Inverse-ETFs-มักจะแย่กว่าผลตอบแทนที่คาดหวัง.png
ที่มา: Nasdaq

 


Leveraged และ Inverse ETFs  ประเภทไหนที่ผู้ลงทุนไทยสามารถลงทุนได้ในปัจจุบัน

 

สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงเกณฑ์รองรับ leveraged และ inverse ETFs มีผลตั้งแต่ 16 มีนาคม 2568

อ้างอิง: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

โดยอนุญาตให้ผู้ลงทุนไทยสามารถลงทุนใน Leverage & Inverse ETFs ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และมีอัตราทวีคูณได้ไม่เกิน 2 เท่า (+/-2x) โดยที่อัตราทวีคูณต้องเป็นจำนวนเต็ม ไม่เป็นทศนิยม ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนประเภทนี้ยังเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่และผู้ลงทุนไทยอาจยังไม่คุ้นเคย สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้กำหนดให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในต่างประเทศ ซึ่งสหภาพยุโรป มาเลเซีย เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสิงคโปร์ จำกัดอัตราทวีคูณไม่เกิน 2 เท่า เช่นกัน (เว้นแต่กรณี inverse ETF มาเลเซียจำกัดอัตราทวีคูณไม่เกิน 1 เท่า) 


ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถลงทุนใน Leverage & Inverse ETFs และหุ้นต่างประเทศใน 23 ประเทศ 31 ตลาดทั่วโลกได้ง่ายๆ ผ่านแอป InnovestX ในแอปเดียว รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.innovestx.co.th/products/stock/offshore หรือสามารถศึกษาตัวอย่างเพิ่มเติมได้จากตารางด้านล่าง


ตัวอย่าง Leveraged ETFs (อัตราทวีคูณไม่เกิน 2 เท่า)

ชื่อ ETF

ตราสารอ้างอิง

อัตราทวีคูณ

สัญลักษณ์ (Ticker)

ค่าใช้จ่ายในการจัดการ (Expense Ratio)

ProShares Ultra QQQ

NASDAQ-100 Index

2x

QLD

0.95%

ProShares Ultra Semiconductors

Dow Jones U.S. Semiconductors Index

2x

USD

0.95%

Direxion Daily Gold Miners Index Bull 2x Shares

NYSE Arca Gold Miners Index

2x

NUGT

1.13%

Direxion Daily CSI China Internet Index Bull 2x Shares

CSI Overseas China Internet Index

2x

CWEB

1.25%

ที่มา: ETFDB, InnovestX Wealth Products & Strategy

 

ตัวอย่าง Inverse ETFs (อัตราทวีคูณไม่เกิน 2 เท่า)

ชื่อ ETF

ตราสารอ้างอิง

อัตราทวีคูณ

สัญลักษณ์ (Ticker)

ค่าใช้จ่ายในการจัดการ (Expense Ratio)

ProShares Short MSCI Emerging Markets

MSCI Emerging Markets Index

-1x

EUM

0.95%

ProShares Short QQQ

NASDAQ-100 Index

-1x

PSQ

0.95%

ProShares UltraShort Semiconductors

Dow Jones U.S. Semiconductors Index

-2x

SSG

0.95%

ProShares UltraShort S&P500

S&P500 Index

-2x

SDS

0.89%

ที่มา: ETFDB, InnovestX Wealth Products & Strategy

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5