BH
PDF Available  
Company Update

BH – การเปิดรพ.ใหม่ที่ภูเก็ตหนุนมูลค่าเพิ่มในระยะยาว แต่สร้างแรงกดดันในระยะสั้น

11 Sep 24 10:50 AM
สรุปสาระสำคัญ

 

  • BH จะเปิดโรงพยาบาลใหม่ในภูเก็ตปี 2569 เพิ่มจำนวนเตียง 39% และขยายเครือข่ายนอกกรุงเทพฯ แต่จะเผชิญการแข่งขันจาก BDMS ที่มีสถานะแข็งแกร่งในพื้นที่
  • แม้โรงพยาบาลใหม่จะสนับสนุนกำไรระยะยาว แต่จะกดดันกำไรระยะสั้น คาดกำไรปกติปี 2567-2569 เติบโต CAGR 2% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
  • ปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 300 บาท คำแนะนำ NEUTRAL เนื่องจากราคาปัจจุบันสะท้อนปัจจัยบวกและลบแล้ว PE ปี 2567 ที่ 28 เท่าใกล้เคียงกับ BDMS

 

โรงพยาบาลแห่งใหม่ในภูเก็ตของ BH (จะเปิดในปี 2569) จะหนุนให้จำนวนเตียงเพิ่มขึ้น 39% และขยายเครือข่ายของบริษัทออกไปจากที่มีโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพฯ การแข่งขันจะเป็นความท้าทาย เนื่องจาก BDMS มีสถานะที่แข็งแกร่งในจังหวัดภูเก็ตอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เราไม่คิดว่าการแข่งขันจะรุนแรงเพราะภาวะอุปทานในพื้นที่ภูเก็ตไม่ได้เป็นที่น่ากังวล  ทั้งนี้แม้ว่าโรงพยาบาลแห่งใหม่ในภูเก็ตจะหนุนให้กำไรเพิ่มขึ้นในระยะยาว แต่จะมีแรงกดดันต่อกำไรในระยะสั้น ดังนั้นเราจึงให้คำแนะนำ NEUTRAL สำหรับ BH เราปรับราคาเป้าหมายสิ้นปี 2567 อ้างอิงวิธี DCF เพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท/หุ้น เพื่อสะท้อนโรงพยาบาลแห่งใหม่ในภูเก็ต

โรงพยาบาลแห่งใหม่ในภูเก็ตจะเปิดให้บริการในปี 2569 BH วางแผนเปิดโรงพยาบาลใหม่ในจังหวัดภูเก็ต คือ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูเก็ต ใน 1H69 โดยคาดว่าจะได้รับอนุมัติ EIA ใน 2H67 และใช้เวลาก่อสร้างราว 1 ปี โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้จะมีจำนวนเตียงทั้งหมด 212 เตียง โดยในเฟสแรกจะมีเตียงเปิดให้บริการ 150 เตียง พร้อมกับบริการต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพทั่วไป, การรักษาโรคหัวใจ, การผ่าตัดกระดูกและกระดูกสันหลัง และการคลอดบุตร นอกจากนี้ โรงพยาบาลนี้จะเป็นศูนย์ส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่ซับซ้อนมากขึ้นไปยัง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในกรุงเทพฯ

แม้ว่าเราจะมีมุมมองเชิงบวกต่อการขยายเครือข่ายโรงพยาบาล แต่การแข่งขันจะเป็นความท้าทาย โรงพยาบาลแห่งใหม่ในภูเก็ตของ BH จะทำให้จำนวนเตียงของบริษัทเพิ่มขึ้น 39% (จากจำนวนเตียงปัจจุบันที่ 538 เตียง) และเป็นการขยายเครือข่ายของบริษัทออกไปจากที่มีโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดสำคัญในประเทศไทยที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักคือการท่องเที่ยว อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ภูเก็ตมีเตียงโรงพยาบาลให้บริการจำนวน 1,374 เตียง โดยส่วนใหญ่เป็นเตียงของโรงพยาบาลรัฐซึ่งคิดเป็น 66% ของจำนวนเตียงทั้งหมด และที่เหลืออีก 34% เป็นเตียงของโรงพยาบาลเอกชน เรามองว่าการแข่งขันจะเป็นความท้าทายสำหรับ BH เนื่องจาก BDMS มีสถานะที่แข็งแกร่งในภูเก็ตอยู่แล้ว โดยเปิดให้บริการโรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง ด้วยส่วนแบ่งตลาด 30% อย่างไรก็ดี จากภาพอุตสาหกรรมในฝั่งอุปทานเตียง เราไม่คิดว่าการแข่งขันจะรุนแรงในพื้นที่ภูเก็ต โดยการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่าภูเก็ตมีเตียงโรงพยาบาล 3.2 เตียงต่อจำนวนประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน 1,000 คน แต่จะลดลงสู่ 2.4 เตียงเมื่อรวมผู้พักอาศัยทั้งหมดเข้ามา ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศไทย แต่ต่ำกว่ากรุงเทพฯ ที่ 4.0 เตียง ซึ่งบ่งชี้ว่าอุปทานเตียงโรงพยาบาลในภูเก็ตไม่ได้สูงจนเป็นที่น่ากังวล 

ปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นสู่ 300 บาท/หุ้น มีแรงกดดันระยะสั้นจากผลขาดทุนในระยะแรกของโรงพยาบาลใหม่ แนะนำ NEUTRAL เรารวมโรงพยาบาลใหม่ในภูเก็ตเข้ามาไว้ในการประเมินมูลค่าของ BH ซึ่งหนุนให้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2567 ที่เราคำนวณได้ด้วยวิธี DCF ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 300 บาท/หุ้น (เพิ่มขึ้น 11% จาก 270 บาท/หุ้น) โดยอิงกับ WACC ที่ 7.1% และการเติบโตระยะยาวที่ 3% เราให้คำแนะนำ NEUTRAL สำหรับ BH เนื่องจากแม้ว่าโรงพยาบาลใหม่ในภูเก็ตจะหนุนให้กำไรปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว แต่จะมีแรงกดดันต่อกำไรในระยะสั้น เราประเมินได้ว่ากำไรปกติในปี 2567-2569 ของ BH จะเติบโตที่ CAGR 2% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 7% และ BDMS (คู่แข่งโดยตรง) ที่ 8% เนื่องจากผลขาดทุนในระยะแรกที่โรงพยาบาลใหม่ในภูเก็ตจะฉุดรั้งให้กำไรปกติของ BH ปรับตัวลดลง 1% ในปี 2569 ก่อนที่จะพลิกกลับมาเติบโต 10% ในปี 2570 และเติบโต 8% ในปี 2571 โดยได้แรงหนุนจากการดำเนินงานที่ดีขึ้น เราใช้สมมติฐานว่าโรงพยาบาลใหม่ในภูเก็ตจะทำกำไรได้ในปี 2571 ซึ่งเป็นปีที่สามของการดำเนินงาน ปัจจัยกระตุ้น คือ ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าคาดของโรงพยาบาลใหม่ ปัจจุบันหุ้น BH ซื้อขายที่ PE ปี 2567 ระดับ 28 เท่า ค่อนขข้างใกล้เคียงกับ BDMS (29 เท่า)

ความเสี่ยง เนื่องจาก BH มีรายได้หลักมาจากบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติ ดังนั้นเราจะจับตาดูการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทำให้เกิดการชะลอการรักษาโรคที่ไม่เร่งด่วนและความไม่สะดวกของผู้ป่วยต่างชาติที่จะเดินทางมารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย เรามองว่าปัจจัยเสี่ยงด้าน ESG คือ ความปลอดภัยของผู้ป่วย (S) ซึ่ง BH ได้นำเอาระบบบริหารคุณภาพต่างๆ มาใช้สำหรับกระบวนการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5