ภาษีที่ต้องรู้ก่อนลงทุน

แนวทางการจัดเก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศ ที่นักลงทุนต้องรู้!

1 Jan 24 7:02 AM
แนวทางการจัดเก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศ ที่นักลงทุนต้องรู้!
สรุปสาระสำคัญ

ประกาศปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ จากกรมสรรพากร มาดูวิธีเก็บภาษีจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศที่นี่เลย

ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา สรรพากรได้มีการปรับปรุงเรื่องการเก็บภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา ที่มีรายได้จากต่างประเทศ รวมไปถึงการลงทุนในหุ้นต่างประเทศด้วยเช่นกัน แต่อย่าพึ่งตกใจ บทความนี้เราจะมาสรุปรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับประกาศปรับปรุงวิธีจัดเก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศไว้ให้ครบแบบม้วนเดียวจบ ในแบบฉบับเข้าใจง่าย ให้คุณลงทุนต่อได้อย่างอุ่นใจ ติดตามกันได้เลย

 

นักลงทุนคำนวณภาษีจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศ

 

 

รู้ก่อนดีกว่า! ประกาศปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ จากกรมสรรพากร มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง?

 

อ้างอิงตามประกาศกรมสรรพากร ป.161/2566 ว่าด้วยเรื่องการเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 โดยประกาศนี้จะเกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีจากรายได้ที่ได้จากต่างประเทศ ครอบคลุมไปถึงรายได้ที่เกิดจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ส่วนต่างราคาจากการขาย เงินปันผล และส่วนเกินเงินทุนใดๆ โดยเหตุผลที่กรมสรรพากรต้องมีการประกาศปรับปรุงวิธีการเสียภาษี ก็เพื่อให้การเก็บภาษีดำเนินไปอย่างเหมาะสมมากขึ้น

 

 

 

ประกาศปรับปรุงวิธีจัดเก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศ มีผลบังคับใช้กับใครบ้าง?

 

สำหรับประกาศปรับปรุงวิธีจัดเก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศ จะมีผลบังคับใช้กับผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ดังต่อไปนี้

 

● ผู้ที่อยู่ในไทยเกิน 180 วัน

● มีเงินได้จากต่างประเทศ จากแหล่งที่มาดังต่อไปนี้

○ หน้าที่การงานที่ทำในต่างประเทศ

○ กิจการที่ทำในต่างประเทศ

○ ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ เช่น หุ้นต่างประเทศ, อสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ

 

 

 

หลังประกาศปรับปรุงวิธีจัดเก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศมีผลบังคับใช้ มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง?

 

ตามเกณฑ์เดิมว่าด้วยเรื่องการจัดเก็บเงินได้จากต่างประเทศ กำหนดไว้ว่าเมื่อผู้มีเงินได้นั้นเป็นผู้ที่อยู่ในไทยเกิน 180 วัน และนำเงินกลับเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน ให้นำรายได้นั้นมาคิดรวมคำนวณภาษี ซึ่งเกณฑ์นี้มีช่องโหว่อยู่ คือ สำหรับผู้ที่นำรายได้ข้ามปีภาษี ทำให้ไม่เข้าเกณฑ์เสียภาษี ในที่นี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กรมสรรพากรมีการปรับปรุงประกาศว่าด้วยเรื่องการจัดเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา

 

ล่าสุด ตามประกาศกรมสรรพากร ที่ ป.162/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ได้ระบุไว้ว่า เงินได้จากต่างประเทศที่เกิดตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป และมีการนำเงินได้นั้นกลับเข้าประเทศไทยหลังวันดังกล่าว ให้เข้าเกณฑ์เสียภาษี

 

ดังนั้น สำหรับรายได้ที่เกิดก่อน 1 มกราคม 2567 และมีการนำกลับเข้ามาก่อนวันดังกล่าว จึงไม่เข้าเกณฑ์เสียภาษีเงินได้จากต่างประเทศ ยกเว้นแต่ รายได้นั้นเกิดในปี 2566 และนำกลับมาในปี 2566 ซึ่งเป็นปีภาษีเดียวกัน ยังคงเข้าเงื่อนไขเดิม

 

 

 

ตารางเปรียบเทียบ: ตัวอย่างการเก็บภาษีรายได้และทรัพย์สินต่างประเทศ

 

ก่อน 1 มกราคม 2567 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

ผู้ที่อยู่ไทยเกิน 180 วัน

☑ มีเงินได้จากต่างประเทศในปีใด และนำกลับเข้ามาในปีภาษีนั้น เข้าเกณฑ์เสียภาษี

☑ มีเงินได้จากต่างประเทศ และนำกลับเข้ามาข้ามปีภาษี ไม่เข้าเกณฑ์เสียภาษี

ผู้ที่อยู่ไทยเกิน 180 วัน

☑ มีเงินได้จากต่างประเทศตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ไม่ว่านำกลับมาในปีภาษีใด เข้าเกณฑ์เสียภาษี

 

 

 

การคำนวณรายได้ที่นำกลับเข้าประเทศนั้น สรรพากรได้กำหนดให้ยึดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่นำเงินกลับเข้ามา เพื่อใช้คำนวณเงินได้จากต่างประเทศ และในส่วนของเงินต้นนั้นได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณภาษี จึงสรุปได้ว่า เงินได้ที่เกิดจากการลงทุนในต่างประเทศ ได้แก่ รายได้จากดอกเบี้ย (Interest) รายได้จากเงินปันผล (Dividend) และรายได้จากส่วนต่างราคาซื้อขาย (Capital Gain) จะถูกนำมาคิดเป็นรายได้พึงประเมิน

 

แต่สำหรับเงินโอนไปต่างประเทศที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และนำเงินนั้นกลับเข้ามาในประเทศไทย ไม่เข้าเกณฑ์เสียภาษี รวมถึงรายได้ที่เกิดในต่างประเทศ และมีการโอนให้แก่บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส แล้วบุคคลดังกล่าวนั้นได้มีการนำเงินกลับเข้ามาประเทศไทย ไม่ต้องนำเงินได้เหล่านี้เข้ามาคำนวณภาษี แต่ทั้งนี้ยอดรวมแล้วต้องไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี

 

 

 

การลงทุนในต่างประเทศยังน่าสนใจอยู่ไหม หลังมีประกาศปรับปรุง

 

หลังจากข่าวการปรับวิธีการจัดเก็บภาษี ที่ครอบคลุมไปถึงรายได้จากการลงทุนต่างประเทศ อาจทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่า แล้วการลงทุนในต่างประเทศยังคงน่าสนใจอยู่ไหม ยืนยันได้เลยว่า ยังคงน่าสนใจ เพราะการลงทุนในหุ้นต่างประเทศนั้นถือว่าเป็นการเปิดโอกาสการลงทุนให้กว้างขึ้น

 

ทำให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในธุรกิจได้หลากหลาย โดยที่ธุรกิจเหล่านั้นก็ล้วนเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในกลุ่มเทคโนโลยี, การแพทย์, การศึกษา หรือธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นธุรกิจที่แตกต่างจากตลาดในไทยแล้ว ยังมาพร้อมกับโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น

 

และที่สำคัญก็คือ การลงทุนในต่างประเทศนั้นถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ถึงแม้ประกาศปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษี จะมีผลต่อการลงทุนหุ้นต่างประเทศ แต่นักลงทุนหุ้นนอกก็อย่าพึ่งตกใจ เพราะเราสามารถปรับตัวได้ เช่น การปรับพอร์ตให้ตอบโจทย์กับการลงทุนในระยะยาว ซึ่งผลตอบแทนที่เราจะได้รับในระยะยาวนั้นก็ยังมีแนวโน้มสูงที่จะช่วยให้เราจ่ายภาษีได้แบบไม่กระทบกับรายรับในส่วนอื่นๆ อย่างที่เรามักจะแนะนำนักลงทุนไว้เสมอว่า แม้การลงทุนจะมีความเสี่ยง แต่หากตัดสินใจไม่ลงทุนเลย อาจมีความเสี่ยงมากกว่า

 

 

InnovestX เราพร้อมอยู่เคียงข้างนักลงทุน ด้วยแอปพลิเคชันการลงทุนที่ทุกคนเข้าถึงได้ ให้คุณเปิดพอร์ตหุ้นต่างประเทศได้ง่าย ๆ และเริ่มลงทุนได้เพียงปลายนิ้ว มาพร้อมโปรแกรมจัดพอร์ตอัจฉริยะที่จะช่วยบริหารและปรับพอร์ตการลงทุนให้กับนักลงทุนทั้งมือใหม่และมือโปร เปลี่ยนทุกการลงทุนให้เป็นเรื่องง่าย สร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีได้อย่างที่ต้องการ สมัครเลย

 

 

คำเตือน

* การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยตรงมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5