สรุปสาระสำคัญ
ภายหลังการปรับตัวลดลง YTD ของ SET Index แย่กว่าตลาดหุ้นภูมิภาค ทำให้ Risk/Reward เริ่มน่าสนใจ และเป็น “โอกาสทยอยซื้อสะสม” หุ้น Real Sector ที่มีพื้นฐานดี โดยคัดเลือกหุ้น SET100 ที่คาดเป็นเป้าหมายของกองทุนและมี Downside Risk จำกัด เนื่องจากมีจุดแข็ง ดังนี้ 1) ปี 2568 คาดกำไรยังมั่นคงและสามารถเติบโตได้ YoY 2) มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยมีสภาพคล่องทางการเงินสูง (Current ratio > 1) และมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยสูง (Interest Coverage ratio > 1) อีกทั้งมองมีโอกาสซื้อหุ้นคืน หลังมี PBV < 1 เท่า 3) Valuation ไม่แพง โดยปัจจุบันซื้อขาย PER และ PBV 68F ระดับต่ำกว่า -1SD และ 4) มีศักยภาพจ่ายปันผลสม่ำเสมอ โดยคาดให้ Div. Yield ปี 2568 อย่างน้อยปีละ 5% ซึ่งพบว่า มี 5 หุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ AP BCP PTT SPALI และ TU
- SET ปรับตัวลง 7.1%YTD สู่ระดับ 1,301.02 จุด ทำจุดต่ำสุดในรอบ 5.5 เดือน ซึ่งแย่กว่าตลาดหุ้นภูมิภาค สาเหตุนอกจากมีปัจจัยลบจากต่างประเทศแล้ว ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญปัจจัยลบในประเทศด้วย อาทิ ขาดความเชื่อมั่นด้าน Good Governance ของ บจ. ไทย สะท้อนผ่านปริมาณซื้อขายต่อวันที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง, ปัจจัยลบเฉพาะตัวที่ทำให้เกิดแรงขายในหุ้นขนาดใหญ่ เช่น ประเด็น GMT, กังวลการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังจะรุนแรงมากขึ้น (CBG OSP), กังวลกลุ่มซีพี (CPALL CPF CPAXT) จะต้องใช้เงินทุนมากหากมีแผนลงทุนซื้อกิจการเซเว่นในญี่ปุ่น เป็นต้น
- INVX มองปัจจุบัน SET ปรับลงมาสะท้อนปัจจัยลบต่างๆ ไปมากพอสมควรแล้ว จนทำให้ซื้อขาย PER 68F ที่ระดับ 13.6 เท่า ต่ำกว่าในอดีตที่ซื้อขายในกรอบ PER 14-16 เท่า (-1SD-เฉลี่ย) หรือหากเทียบกับช่วงเกิดวิกฤติ COVID-19 ซึ่งพบว่า SET ปรับตัวลงมาไปซื้อขาย PER ที่ 13 เท่า จะสามารถเทียบได้กับ SET Index ที่บริเวณ 1250 จุด ซึ่งใกล้เคียงกับปัจจุบันแล้ว (กรณีแย่สุดในช่วงเกิด Panic จาก COVID-19 พบว่า SET ซื้อขายที่ PER ต่ำสุดที่ 12 เท่าในช่วงเวลาเพียง 2-3 วันเท่านั้น หรือเทียบได้กับ SET ที่ระดับ 1150 จุด)
SET Index ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดในภูมิภาค
- ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 7.1% ตั้งแต่ต้นปี 2025 และลดลง 12% นับตั้งแต่ ปธน. ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในช่วงต้นเดือน พ.ย. 2024
- นับเป็นการปรับตัวลดลงมากกว่าตลาดในภูมิภาค 5% และลดลงมากกว่า 7% เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดตั้งแต่ต้นปี 2025
- ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมยกเว้นกลุ่มธนาคารมีผลตอบแทนติดลบ โดยกลุ่มที่มีการปรับตัวลดลงมากที่สุดได้แก่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (-18%) กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (-10%) กลุ่มปิโตรเคมี (-9%) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (-9%) กลุ่มท่องเที่ยวและขนส่ง (-8%) กลุ่มการแพทย์ (-7%) และกลุ่มค้าปลีก (-6%)
- หากพิจารณาถึงการปรับตัวลดลงเรามองว่าดัชนีปรับตัวเป็นเรื่องของปัจจัยภายในประเทศ 55% (กำลังซื้อที่ลดลง ดอกเบี้ยที่ลดลงช้า การแข่งขันภายในประเทศ การปรับเปลี่ยนนโยบายของภาครัฐ) และปัจจัยภายนอก 45% (สงครามการค้า เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า ยอดขาย Semiconductor ชะลอตัวลง) ดังนั้นเราจึงมองว่าปัจจัยภายในประเทศทำให้ตลาดขาดความมั่นใจในแนวโน้มการเติบโตของบริษัทในประเทศ
- ด้วยการขาดปัจจัยภายในประเทศ และมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเพิ่มขึ้นจึงทำให้ตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงขายค่อนข้างมากและค่อนข้างผันผวน เมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาค
- แต่อย่างไรก็ดีเรายังไม่เห็นความผิดปกติจากการขายของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นไปตามตลาดภูมิภาคที่มีแรงขายจากแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์และความกังวลต่อสงครามการค้า